เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง PROBLEM&FEAR พูดแบบไหนให้ได้ดี




          พูดอย่างไรให้ได้ดี?!! ขจัดความประหม่าออกไปได้เมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ นักพูดมือใหม่ที่เคยเจอสถานการณ์พูดนึกอะไร ไม่ออก ขึ้นต้นไม่ถูก จบไม่ลง ลองเทคนิคระยะสั้นซึ่งจะช่วยให้การพูดในที่สาธารณะได้ดีขึ้น เริ่มจาก

          เตรียมพร้อมก่อนการนำเสนอ การพูดที่ดี ควรเริ่มจากการรู้ในเรื่องที่เราจะพูด ทำให้พูดออกไปได้อย่างง่าย ไม่ติดขัด และไม่ว่าคุณจะเป็นผู้พูดประเภทไหนก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการพูดในวงสนทนาเล็กๆ กับการพูดในที่สาธารณะ คือ "การเตรียมตัว" ยิ่งพูดต่อหน้าคนหมู่มากเท่าไร ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้นเท่านั้น การเปิดตัวเป็นผู้พูดในที่สาธารณะ นั่นย่อมหมายความว่าคุณถูกคาดหวังในการพูด ครั้งนี้

          วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง กลุ่มผู้ฟังนับเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องรู้ว่ากลุ่มผู้ฟังของคุณเป็นใคร พยายามพูดเรื่องที่เชื่อมโยงกับพวกเขา

          สร้างความเป็นกันเองกับผู้ฟัง อารมณ์ขันก็อาจช่วยให้ลดความตื่นเต้นลงไปได้มาก หลายคนกลัวปล่อยมุขฝืดๆ ไม่ต้องห่วงทุกคนไม่ได้เป็นนักแสดงตลกแน่ๆ แต่เราล้วนมีเรื่องตลกอยู่ในหัวกันทั้งนั้น เคล็ดลับข้อนี้ก็แค่อย่าปล่อยมุขกระจัดกระจายถี่เกินไป เพราะยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยงต่อมุขแป้ก

          ลืมความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หากในขณะพูดเกิดข้อผิดพลาด (เช่นปล่อยมุขแล้วห้องเงียบกริบ) อย่าเก็บมาคิดมาใส่ใจ หากมีการกังวลเกี่ยวกับข้อผิดพลาดดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด ให้พูดต่อให้จบ เมื่อพูดเสร็จแล้ว จึงกลับมา ทบทวนในสิ่งที่ทำพลาด และหาทางแก้ไขในโอกาสครั้งหน้า

          สร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ ควรไปถึงสถานที่ก่อนเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้คุ้นชินสถานที่ เตรียมพร้อมอุปกรณ์ เมื่อถึงเวลาจริงจะได้ไม่ประหม่าหรือติดขัดเวลาที่ทำการพูด

          สังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง คงเป็นเรื่องไม่ดีแน่ ถ้าหากขณะพูดคนฟังหลับใส่เรากันทั้งห้อง หรือหันมาคุยกันจ้อกแจ้กไม่สนใจเรื่องที่เราพูดเลย ควรสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟังอยู่เสมอ เพื่อจะได้หาโอกาสแก้ไขสถานการณ์ต่อไป เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้จากวิธีพูดแบบท่องจำ หรือใช้วิธีอ่านให้คนฟัง ไม่ใช่เราเตรียมตัวมาไม่มี เตรียมเรื่องที่จะพูดมาแน่นปึ้ก แต่เมื่อถึงเวลาก้มหน้าก้มตาอ่านแบบท่องจำเพราะกลัวหลุด  กลัวผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด โดยที่ไม่สนใจใคร ไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ วิธีนี้ไม่ควรใช้โดยเด็ดขาด อย่ากดดันตัวเองเกินไป

          การฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน จนเกิดความชานาญ เพราะไม่มีทักษะความสามารถใดได้มาโดยไม่ฝึกฝน สิ่งนี้คือเคล็ดลับของนักพูดที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

          ฝึกพูดหน้ากระจก สำหรับคนไม่ชอบแสดงออกในที่สาธารณะ นี่คือเรื่องยากเอามากๆ อย่าไปคิดว่าพูดคนเดียวดูเหมือนคนบ้าชอบกล แต่วิธีนี้มีประโยชน์มากมาย เพราะจะเห็นผลชัดเจนและทันที สามารถปรับปรุงข้อผิดพลาดได้ ณ ขณะนั้น ผลลัพธ์จากความพยายามก็จะสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น

          ซ้อมแล้วอัดวิดีโอ แล้วดูภาพตัวเองขณะพูด ทำให้เห็นทุกอย่าง ได้สังเกตการพูดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และจังหวะจะโคน การเห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเองก่อนใครๆ ทำให้ปรับปรุงการพูดของคุณได้ทัน ก่อนการพูดจริงจะมาถึง การซ้อมบ่อยๆ ก็ยิ่งลดความตื่นเต้น

          ฝึกพูดต่อหน้าชุมนุมขนาดเล็ก ก่อนก้าวขึ้นบนเวที ลองสื่อความคิดของเราให้คนอื่นฟังขณะอยู่ข้างล่างเวทีให้ได้อย่างคล่องแคล่ว หรือเริ่มจากเวทีเล็กๆ เช่น การกล่าวสุนทรพจน์อวยพรเล็กๆ ก็ถือว่าชิมลาง ก่อนไล่ไปสู่เวทีที่ใหญ่จริงจังขึ้น

          ฝึกหลายๆ รูปแบบ อย่างเช่น ละครเวที ผู้บริหารรายหนึ่งเล่าว่า สมัยเป็นนักศึกษาขี้อายมาก แต่เมื่อตัดสินใจเข้าชมรมละครเวที เวลาผ่านไป 1 เดือนกว่าเท่านั้น เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เขาคุยกับคนรอบข้างมากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพียงเพราะเขาได้รับบทพูดสั้นๆ และได้แสดงบทบาทนี้ต่อหน้าเพื่อนๆ หลายร้อยคน ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นผู้จัดการบริษัท มีประสิทธิภาพสูงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          เข้าคอร์สฝึกการพูด เป็นการพัฒนาบุคลิกได้ผลลัพธ์ดีที่สุด มีการสอนตั้งแต่เทคนิคการขจัดอาการประหม่า ลดความตื่นเต้น การสร้างความมั่นใจ แนะวิธีการปรากฏตัวให้ดูดีมีความน่าเชื่อถือ เทคนิคฝึกการใช้ไมโครโฟน เผยข้อควรระวังในการพูด เช่น การใช้น้ำเสียง สีหน้า และท่าทางประกอบการพูด ไปจนถึงหลักการพูด โน้มน้าวจูงใจ การพูดที่มีความน่าเชื่อถือ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน

 

ชอชอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 กรกฏาคม 2559