เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ธุรกิจลุยการตลาด 4.0 ไล่ล่าผู้บริโภคยุคเทคโนโลยี




          ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม เปิดเผยว่า วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่ง ในชีวิตของผู้บริโภคและที่สำคัญจะกลายเป็นที่ช็อปปิ้ง เมื่อเข้ายุค 4.0 การซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องไปถึงห้างแบบเดิมๆ อีกต่อไป

          จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า พฤติกรรมการซื้อสินค้าจะเกิดขึ้นทันทีและแพร่หลายบนโทรศัพท์มือถือ จากเดิมการซื้อสินค้าทันทีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็นสินค้าจึงจะเกิดการซื้อ ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมการบริการโลจิสติกส์ส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคจาก 3 วันเป็นเหลือวันต่อวัน พร้อมมีบริการ ช็อปปิ้งบ็อกซ์อยู่ภายใต้คอนโดมิเนียม เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ บริษัทจะนำสินค้าไปไว้ที่ตู้บริการ เมื่อลูกค้ามารับสินค้าก็สามารถใช้บาร์โค้ดได้ทันที ซึ่งเป็นบริการที่รองรับกับแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าที่ช็อปปิ้งผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

          กระดาษเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังเผชิญกับความท้าทายเมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 เพราะโอกาสที่ธุรกิจต่างๆ จะใช้กระดาษมีน้อยลง

          ฐีระวิตต์ ลี้ถาวร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่างใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปส่งผลให้ปริมาณการใช้กระดาษขยายตัว แต่เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ธุรกิจสามารถส่งเอกสารผ่านทางโลกออนไลน์ได้ ซึ่งทำให้แนวโน้มการใช้กระดาษลดลง แม้ว่าจากการสำรวจล่าสุดจะพบว่าการขยายตัวของการใช้กระดาษในตลาดเอเชียเติบโต 3-4% ก็ตาม

          การทำธุรกิจของดั๊บเบิ้ล เอ จึงเดินหน้าปรับตัวด้วยการพัฒนากระดาษให้สอดรับกับเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบอิงก์เจ็ต เพื่อลดการสูญเสียของกระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพการพิมพ์ นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ สร้างสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนา ส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีอยู่ 1 ล้านครัวเรือน นำกล้าต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ไปปลูกตามแนวคันนาระหว่างแปลงจำนวน 60 ล้านต้น

          ในส่วนการทำตลาดของกลุ่มธุรกิจพลังงาน บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่น บริษัท ปตท. กล่าวว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ พลังงาน ยกตัวอย่างเช่น การเกิดรถยนต์จากไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) จึงมีแนวโน้มว่าการใช้พลังงานจากน้ำมันลดลง สำหรับ ปตท.วางแผนต่อยอดจากกลุ่มธุรกิจน้ำมัน โดยการแตกไลน์ธุรกิจนันออยล์ อาทิ ร้านไก่ทอดเท็กซัสชิกเก้น ก๋วยเตี๋ยวเรือใจดี ล่าสุดเปิดธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดในปั๊มน้ำมัน

          "กลยุทธ์การแตกธุรกิจของ ปตท.เปลี่ยนคาว่า Marketing มาเป็น Customize หรือพัฒนาและต่อยอดโดยยึดจากตัวผู้บริโภคและความต้องการ การแตกธุรกิจใหม่ไม่จำเป็นต้องทำเอง แต่สามารถร่วมพัฒนาก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ แผนระยะยาวเราอาจไม่ทำโรงกลั่นน้ำมันรถยนต์ แต่อาจทำโรงกลั่นสำหรับปิโตรเคมีก็เป็นไปได้ อีก 5 ปีโจทย์ของธุรกิจพลังงาน คือ การทำสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน"

          ด้านกลุ่มสถาบันการเงิน ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้บริการสาขาของลูกค้าลดลงเหลือเพียง 20% ผลจากเทคโนโลยี ขณะที่โมบายแบงก์กิ้งเติบโต 100% ทุกปี การใช้พร้อมเพย์และการเกิดฟินเทคในอนาคต มองว่าจะช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินขยายตัว

          "สิ่งสำคัญต้องเตรียมนวัตกรรมใหม่ อาทิ บริการแจ้งยอดสะสมคะแนนจากบัตรเครดิต เราเตรียมนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการพัฒนาคน ซึ่งได้จัดตั้งเค แบงก์บิซิเนส ดูในเรื่องของนวัตกรรม พัฒนาคนรุ่นใหม่รองรับโลกการชำระเงินที่เปลี่ยนแปลง 2-3 ปีข้างหน้า" ปกรณ์ กล่าว

          ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า ในยุคที่คนกลายเป็นแบรนด์ เกิดจากการเปลี่ยนจากผู้บริโภคกลายมาเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ เมื่อผู้บริโภคกลายเป็นแบรนด์จะมีอำนาจและกลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจขึ้นมาทันทีเพราะสามารถดีไซน์ความต้องการของตัวเองไปสู่การทำตลาด อีกทั้งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากกว่า

          สำหรับกลยุทธ์ตลาด การสร้างแบรนด์ต้องทำให้แบรนด์กลายเป็นคน ต้องมีชีวิตไม่ใช้ตราสัญลักษณ์ คือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภค การเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลพร้อมกับพูดถึงการให้คุณค่ากับชีวิตมากกว่าจะสื่อสารว่าในเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ต้องเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

          สุภาวดี ตันติยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัลเล็น โลว์ กรุ๊ป กล่าวว่า การทำโฆษณาในยุค 4.0 เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค สินค้าต้องทำงานหนักขึ้น เพราะผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น การสื่อสารโดยการขายสินค้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ แต่แบรนด์ต้องสื่อสารว่าช่วยทำให้ชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นได้อย่างไร

          การค้าการขายที่เปลี่ยนไปจากยุค 1.0 จากในอดีตความต้องการตลาดมีมากกว่าผู้ผลิต มาสู่ยุคการตลาด 4.0 โลกของเทคโนโลยี ผู้บริโภคเป็นใหญ่และกลายเป็นคู่แข่ง นักการตลาดต้องใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนไล่ล่าพฤติกรรม ผู้บริโภคให้ทัน

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 มิถุนายน 2559