เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง คอลัมน์: ตอบโจทย์เศรษฐกิจ: คลาวด์คอมพิวติ้ง...ทางเลือกหนึ่งขององค์กร




          อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งได้เข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งขององค์กรในการเช่าใช้ระบบไอทีแทนการลงทุนสร้างระบบทั้งหมดเอง โดยองค์กรผู้ใช้งานเป็นเพียงผู้เช่าใช้บริการ ส่งผลให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไอทีได้ไม่น้อยกว่า 30% ของการลงทุนระบบไอทีเอง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในลักษณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบบริการศูนย์ข้อมูล (Data Center) บริการระบบซอฟต์แวร์เชิงธุรกิจ หรือ แม้แต่บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics)

          กระแสความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจไทยในการหันมาใช้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งนั้น ได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้หลายองค์กรเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงเกิดพิบัติภัย ส่งผลให้ธุรกิจบริการคลาวด์คอมพิวติ้งในรูปแบบบริการศูนย์ข้อมูล ซึ่งมีการวางระบบศูนย์ข้อมูลสำรองไว้หลายแห่งเพื่อบริหารความเสี่ยงในกรณีพิบัติภัย ได้เริ่มเข้ามา มีบทบาททางธุรกิจในไทยมากขึ้น

          ทั้งนี้ แม้จะมีกระแสความตื่นตัวดังกล่าว ตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งไทยยังคงอยู่ใน ระยะเริ่มต้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายบริการคลาวด์คอมพิวติ้งเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านไอทีของภาคธุรกิจทั้งหมดในปี 2558 ยังคงมีสัดส่วนเพียง 0.8% คิดเป็นมูลค่าราว 5,600 ล้านบาท อย่างไร ก็ดี ในระยะถัดไป คาดว่า ตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งน่าจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายต่างๆ ของทางภาครัฐและความต้องการของทางภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสขยายตัว ต่อเนื่องมากกว่า 30% ต่อปี และน่าจะเติบโตแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาทได้ในปี 2560

          ทางด้านภาครัฐนั้นโยบายรัฐบาลดิจิทัลน่าจะมีบทบาทสำคัญในการหนุนให้หน่วยงานรัฐปรับใช้ระบบไอทีในการทำงาน พร้อมทั้งลดการลงทุนด้านไอทีที่ซ้ำซ้อน ด้วยการผลักดัน ให้แต่ละหน่วยงานหันไปใช้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น

          โดยโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่ง คือ โครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ โดยรัฐจะลงทุนสร้างศูนย์จัดเก็บข้อมูลภาครัฐเพื่อเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง ขณะที่ข้อมูลทั่วไปจะใช้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลของภาคเอกชน

          นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมไปยังระดับหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ส่วนหนึ่งในการ หนุนให้บริการ คลาวด์คอมพิวติ้งขยายเข้าสู่ชุมชนและภาคธุรกิจท้องถิ่นมากขึ้น

          สำหรับทางด้านภาคเอกชนนั้น นอกเหนือ จากปัจจัยด้านการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนระบบไอที และการตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงจากกรณีพิบัติภัยแล้ว ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 4G ก็น่าจะมีส่วนหนุนให้องค์กรธุรกิจหันมาใช้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เพื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลและดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่มีสาขาจำนวนมาก หรือพนักงานต้องเดินทางเป็นประจำ เช่น ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจสายการบิน เป็นต้น

          นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มักนิยมทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค  ซึ่งถูกเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าบิ๊กดาต้า

          ข้อมูลเหล่านี้หากนำมาวิเคราะห์เชิงลึกก็จะเกิดประโยชน์ทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น  การทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และสามารถเสนอสินค้าหรือโปรโมชั่น ที่ตรงใจ เป็นต้น ส่งผลให้บริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งเข้ามามีบทบาทและเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งเหตุผลด้านต้นทุน ความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และการสนองต่อความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

          จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดบริการคลาวด์คอมพิวติ้งดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งทางด้านไอทีและสื่อสาร ที่มีความพร้อมด้านโครงข่ายสื่อสาร เทคโนโลยีและบุคลากร ได้ทยอยหันมาเปิดหน่วยธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น

          โดยกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่น่าสนใจและมีแนวโน้มต้องพึ่งพาระบบไอที ได้แก่ ธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจต่างๆ ดังกล่าวมีความต้องการบริการด้านไอทีที่ครอบคลุมทั้งบริการจัดเก็บข้อมูล บริการซอฟต์แวร์สำนักงาน และบริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า

          แม้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งจะมีประโยชน์และปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน แต่ผู้ใช้บริการบางรายยังคงมีความกังวลต่อความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องถูกจัดเก็บอยู่กับผู้ให้บริการ

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยีและแนวทางในการแก้ไขประเด็นดังกล่าว เช่น  การเข้ารหัสข้อมูล และการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล เป็นต้น ซึ่งน่าจะสามารถสร้าง ความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการในการหันมาใช้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งขององค์กรต่อไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤษภาคม 2559