เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง EER และ SEER ช่วยคุณประหยัดค่าไฟฟ้าได้จริงหรือ?



tmp_20162704140142_1.jpg


          ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

          ฤดูร้อนปีนี้มาเร็ว และร้อนหนักขึ้น กว่าทุกปีนะครับ จนส่งผลให้เมื่อวันที่  19 เมษายนที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีคอยู่ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์  ทุบทำลายสถิติของปีนี้ และปีที่แล้ว สาเหตุหลักๆ มาจากอากาศที่อบอ้าวและอุณหภูมิ ที่ร้อนสูงขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องหา ตัวช่วยคลายร้อน อย่างเครื่องปรับอากาศ  ซึ่งถือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก และคงจะดีไม่น้อยหากเราได้รู้ถึงวิธีการเลือกเครื่องปรับ อากาศที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเรา และ ไม่ต้องตกใจเวลาเจอบิลค่าไฟฟ้าตอนสิ้นเดือน วันนี้ผมจึงนำเรื่องนี้มาบอกกล่าวกันครับ

          ก่อนอื่น เครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมและประหยัดไฟฟ้าที่สุดในเวลานี้ ควรจะเลือกเป็นเครื่องปรับอากาศฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่มีค่า SEER สูง แต่คืออะไรนั้น  ขอทำความเข้าใจดังต่อไปนี้ครับ

          คำว่า ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5  เราอาจได้ยินกันจนคุ้นหู และรู้จักกันมานาน แต่ก็อาจยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร เพื่ออะไร และช่วยเราประหยัดค่าไฟได้อย่างไร

          "ฉลากประหยัดไฟฟ้า" เป็นฉลากที่บ่งบอก ระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายต่อปี เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งฉลากประหยัดไฟนี้จะมีระดับความประหยัดตั้งแต่เบอร์ 1 ถึง เบอร์ 5 นั่นหมายถึงเบอร์ 5 คือ ระดับการประหยัดไฟที่มากที่สุด

          ในส่วนของฉลากประหยัดไฟฟ้า บนเครื่องปรับอากาศนั้น จะมีเกณฑ์ระดับประสิทธิภาพพลังงาน ที่เรียกว่าอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency Ratio : EER) (จำคำนี้เอาไว้นะครับเดี๋ยวผม จะมาอธิบายเพิ่มเติม) เพื่อเป็นตัวกำหนดว่าประหยัดพลังงานไฟฟ้าอยู่ในระดับใด ซึ่งเครื่องปรับอากาศแต่ละขนาดก่อนจะได้การรับรองการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเบอร์ 5  จะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และข้อกำหนดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

          แล้วทราบกันหรือไม่ว่า ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 สำหรับเครื่องปรับอากาศ บ้านเรา มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ เครื่องปรับอากาศชนิด Fixed Speed (ทดสอบแบบ EER) และ เครื่องปรับอากาศชนิด Inverter หรือ Variable Speed (ทดสอบแบบ SEER) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้แตกต่างกันอย่างไร และส่งผลอย่างไรกับบิลค่าไฟของเรา

          เริ่มจากเครื่องปรับอากาศชนิด Fixed Speed ทดสอบแบบ EER ย่อมาจาก Energy Efficiency Ratio เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งระบบการทำงานของคอมเพรสเซอร์จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนความเร็วในการหมุนรอบได้ จึงต้องตัด-ต่อการทำงานของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์บ่อยๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้อง ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในการรักษาอุณหภูมิในห้องไม่ค่อยสม่ำเสมอและเครื่องทำงานมีเสียงดัง

          ส่วนเครื่องปรับอากาศชนิด Inverter หรือ Variable Speed ทดสอบแบบ SEER ย่อมาจาก Seasonal Energy Efficiency Ratio เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานตามฤดูกาลของเครื่องปรับอากาศ โดยจะนำค่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้มีความใกล้เคียงกับสภาพการใช้พลังงานจริงมากขึ้นกว่าแบบ EER โดยเจ้าตัวนี้จะมีระบบเซ็นเซอร์คอยตรวจจับอุณหภูมิ ซึ่งเมื่อถึงอุณหภูมิที่กำหนด คอมเพรสเซอร์จะลดรอบลงเพื่อรักษาความเย็นเอาไว้ระดับหนึ่ง โดยที่คอมเพรสเซอร์จะไม่หยุดทำงาน เลยทำให้มีจุดเด่นด้านการประหยัดไฟฟ้าที่มากกว่าถึง 30% รักษาอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่กว่าเครื่องปรับอากาศแบบเดิม เย็นเร็วกว่า เครื่องเดินเงียบกว่า ที่สำคัญเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

          คงพอจะเข้าใจกันบ้างแล้วนะครับสำหรับเรื่องฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และความแตกต่างของการวัดค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศแบบ EER กับ SEER เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

          ผมขอสรุปอีกครั้งถึงหลักสำคัญในการเลือกเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับอากาศในบ้านเรา คือ

          1. ควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่แสดงว่าเป็นเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดไฟ

          2. ควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีค่า SEER สูง

          3. ควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มี ขนาด (บีทียูต่อชั่วโมง) ให้เหมาะสมกับขนาด ของห้อง

          และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ  เรื่องของราคาเครื่องปรับอากาศ และค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย มีความสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อ เช่นกัน เราควรเปรียบเทียบผลที่จะเกิดขึ้นใน ระยะยาว เช่น หากลงทุนเลือกเครื่องปรับอากาศ ที่มีราคาแพงขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานสูง (ค่า SEER สูง) ก็จะส่งผลให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรวมได้มากกว่า หลักการเลือกเครื่องปรับอากาศง่ายๆ เพียงแค่นี้ ก็จะทำให้หน้าร้อนนี้หรือหน้าร้อนไหนๆ สบายตัวและสบายกระเป๋าไปพร้อมๆ กันแล้วครับ

          ที่สำคัญอย่าลืมร่วมเป็นทีมชาติประหยัดพลังงาน ไปพร้อมกับสำนักงานนโยบายและพลังงาน (สนพ.) ด้วยกิจกรรม "รวมพลังหาร 2 ลดพีคไฟฟ้า" ซึ่งทุกครั้งที่เปิดเครื่องปรับอากาศควรปรับอุณหภูมิขึ้น 1 องศาเซลเซียส หรือปรับเป็น Fan Mode  ในช่วงพีคโหลด (ช่วงเวลา 14.00-15.00 น.) กันนะครับ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของชาติกันนะครับ


ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 27 เมษายน 2559