เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง คอลัมน์: รายงาน: ศูนย์เรียนรู้ บ้านภูลิตา ลุยเลียง กุ้งก้ามแดง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่




          "บ้านภูลิตา" ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา มีห้องพัก 9 ห้อง พร้อมสระน้ำ ร้านอาหาร ในบรรยากาศที่ร่มรื่น ที่สำคัญยังมีศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา ที่แบ่งเนื้อที่เพียงประมาณ 1 งานเท่านั้น แต่กลับมีการปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล พืชผัก ทั้งแบบกระถางเก็บความชื้น ผักไร้ดิน เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม เลี้ยงสาหร่าย เลี้ยงชันโรง เพาะเห็ด ธนาคารจุลินทรีย์ เลี้ยงไก่ สาธิตปลูกข้าว ทั้งหมดนั้นปลอดสารเคมี

          ภายในศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา เน้นการออกแบบใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนเมืองสามารถเรียนรู้และเลียนแบบ นำไปปรับใช้สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานกันเองในครัวเรือนได้ โดยผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากศูนย์แห่งนี้จะถูกป้อนเข้าสู่ร้านอาหารของบ้านภูลิตา นั่นหมายถึงทุกเมนูอาหารที่นี่ เป็นอาหารปลอดสารเคมีทุกจาน

          พื้นที่เลี้ยงชันโรง เป็นอีกจุดที่เด่นในเรื่องการใช้พื้นที่ โดยทำเป็นเสาปูน มีชั้น วางรังชันโรง ที่มีลักษณะเป็นกล่องไม้วางเรียงกันในแนวตั้งและแนวนอน ส่วนด้านล่างทำอ่างน้ำสำหรับเลี้ยงปลาทับทิมและกุ้ง นอกจากจะได้ผลผลิตเพิ่มแล้วยังเป็นการลดปัญหามดแมลงไต่ขึ้นไปรบกวนชันโรง โดยชันโรงนี้สามารถตัดเก็บน้ำผึ้งได้โดยไม่ไปทำลายรังของชันโรง เมื่อเก็บน้ำผึ้งแล้วรังยังอยู่ สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ต่อเนื่อง โดยที่ศูนย์แห่งนี้มีชันโรงอยู่ 60 รัง แต่ละครั้งที่เก็บประมาณ 2-3 เดือน จะได้น้ำผึ้ง 20-30 ขวด นอกจากนั้นยังมีบริการเช่ารังชันโรงสำหรับไปใช้ในพื้นที่ปลูกไม้ผล เพื่อใช้ในการผสมเกสร รังละ 1,500 บาทด้วย

          "วิโรจน์" บอกว่าพืชผักที่ปลูกภายในศูนย์แห่งนี้ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามเหมือนผักทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือปลอดสารพิษแน่นอน ผลผลิตที่ได้แม้จะไม่มากมายจนมีเหลือส่งขายตลาดภายนอกได้ แต่เพียงเฉพาะนำพืชผักมาใช้ภายในร้านอาหารของตัวเอง ก็ประหยัดต้นทุนในการซื้อพืชผักเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ที่สำคัญลูกค้าที่มาพักที่บ้านภูลิตา รับประทานอาหารจากผลผลิตปลอดสารพิษ ซึ่งถือเป็นกำไรที่ได้รับ ดังนั้น จึงมองว่าหากคนเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไปหันมาใช้พื้นที่เพียงน้อยนิด ใช้วัสดุเหลือใช้เป็นภาชนะปลูกผักรับประทานในครัวเรือน ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อพืชผัก และยังได้พืชผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริงอีกด้วย

          ขณะที่ "รดา" ได้สนใจริเริ่มเลี้ยงกุ้งก้ามแดง สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ลำดับต้นๆ ของภาคใต้ โดยใช้พื้นที่เล็กๆ รอบบริเวณบ้านเป็นที่เพาะเลี้ยง เน้นการบริหารจัดการสถานที่ที่มีอยู่น้อยนิดแบบคนเมืองทั่วไป ด้วยรูปแบบง่ายๆ และให้มีระบบน้ำที่ดี สะอาด ใช้ท่อประปาเป็นรังให้กับกุ้งที่มีขนาดโต และหลอดเล็กๆ สำหรับลูกกุ้ง โดยเริ่มต้นเลี้ยงในพื้นที่นี้ เนื่องจากเห็นว่ามีผู้เลี้ยงกุ้งชนิดนี้น้อยมาก ในขณะที่ตลาดโดยเฉพาะโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวนั้นยังมีความต้องการ กุ้งก้ามแดงให้บริการลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกมาก โดยมีโรงแรมทั้งใน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โรงแรมใน จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต จะทำข้อตกลงให้ส่งกุ้งเนื้อ แต่ไม่สามารถหากุ้งก้ามแดงส่งให้ได้ จึงมาริเริ่มเลี้ยงและสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่สนใจขึ้นมา ด้วยการอบรมให้ความรู้เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้เพาะเลี้ยง นำไปสู่การทำตลาดกุ้งก้ามแดงในอนาคต

          "รดา" บอกว่า กุ้งก้ามแดงนั้นดูแลไม่ยาก เริ่มจากการปรับค่าพีเอชของน้ำให้อยู่ที่ 7.5-8.2 และเติมอีเอ็มก่อนจะปล่อยพันธุ์กุ้งลงไป ให้อาหารกุ้งวันละ 1 ครั้ง แต่ต้องคอยระวังในช่วงที่กุ้งลอกคราบ ที่จะมีความอ่อนแอ และอาจถูกกุ้งตัวอื่นๆ กินได้ จึงต้องคอยดูและแยกออกจากกันในช่วงกุ้งลอกคราบ โดยเมื่อกุ้งตั้งท้องก็จะแยกแม่พันธุ์ที่ตั้งท้องไปอยู่ในคอนโดพลาสติก เมื่อครบ 45 วันจะได้ลูกกุ้งออกมาไม่น้อยกว่า 300 ตัว ซึ่งจะสะดวกต่อการแยกลูกกุ้ง โดยอัตราการรอดนั้นสูงถึงไม่น้อยกว่า 200 ตัว เมื่อกุ้งมีความยาว 2 นิ้ว ก็สามารถส่งขายในตลาดลูกกุ้งได้ในราคาตัวละ 25-50 บาท

          "ขณะนี้มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจไปแล้วประมาณ 120 ราย ซึ่งเริ่มต้นในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มได้ผลผลิตลูกกุ้งสร้างรายได้ให้แล้ว ซึ่งทางเราจะรับซื้อคืนจากเกษตรกร เพราะต้องการที่จะทำตลาดให้ โดยมีการขายผ่านเฟซบุ๊กและบอกต่อบ้าง ขณะนี้มียอดสั่งจองล่วงหน้าเข้ามาแล้วจำนวนมาก มองว่าหลังจากนี้เมื่อเกษตรกรเลี้ยงกุ้งชนิดนี้กัน มากขึ้นก็จะเริ่มทำตลาดขายเนื้อกุ้งชนิดนี้ ซึ่งกุ้งขนาด 6 ตัวต่อกิโลกรัมนั้นมีราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท คาดว่าจะเริ่มทำตลาดเนื้อกุ้งก้ามแดงอย่างจริงจังในอีก 3 ปี และอีกประมาณ 10 ปี ก็จะมีกุ้งหมุนเวียนในตลาดคล่องมากขึ้น"

          "รดา" ระบุว่า ล่าสุดนี้มีผู้สนใจมาร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน ภายในศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตาอย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่บ้านภูลิตาก็จะมีลูกค้าเข้าพักในช่วงสุดสัปดาห์อย่างคึกคัก ทำให้รู้สึกว่าคิดถูกที่ลาออกจากงานประจำแม้จะมีรายได้ที่สูง แต่ก็ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ดูแลลูก มาปลูกผัก มาเป็นผู้ให้ความรู้ให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจ การลาออกมาจึงถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าเยี่ยมชมได้เป็นประจำทุกวัน สอบถามรายละเอียด โทร 08-1897-5472

          ศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา จึงเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมใหม่ๆ เทคนิคที่น่าสนใจ ในการออกแบบการปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน ในรูปแบบที่คนเมือง คนที่มีพื้นที่ใช้สอยเพียงน้อยนิด สามารถทำได้แบบง่ายๆ ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ในยุคที่เศรษฐกิจขาลงเช่นนี้

 

          บรรยายใต้ภาพ

          รดา มีบุญ

          วิโรจน์ วิโสจสงคราม

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 เมษายน 2559 หน้า 28