เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง คอลัมน์: หมายเหตุประชาชน: ลดเสี่ยง...เลี่ยงเบาหวาน แค่บริโภคสมุนไพร




          ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล อธิบายถึงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านกิจกรรม "ลดเสี่ยง เลี่ยงโรค แค่บริโภคสมุนไพร" ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ให้ฟังว่า อัตราความเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและยังพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเบาหวานค่อนข้างมาก โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ และร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ยังแนะนำสมุนไพร ที่ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดถึง 10 ชนิด ได้แก่... 1.มะระขี้นก ส่วนสกัดด้วยน้ำของผลมะระ มีสารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งการทดลองในคนโดยใช้ผลแห้งบดเป็นผลและน้ำคั้น ในผู้ป่วยเบาหวานระดับปานกลาง ประเภทไม่พึ่งอินซูลิน ซึ่งสามารถกินได้ทั้งแบบสดหรือจะลวกกินกับน้ำพริกก็ได้ 2.ใบชะพลู เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมกินแบบสด ๆ ทั้งเมี่ยงคำ ซอยใส่ข้าวยำ รองก้นกระทงห่อหมก เป็นต้น มีฤทธิ์แอนตี้ออกซิแดนท์ (antioxidant) สูง ทั้งยังมีปริมาณแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซีสูงด้วย 3.ผักเชียงดา ช่วยฟื้นฟูเบต้าเซลของตับอ่อน (อวัยวะที่สร้างอินซูลิน) ซึ่งสารไตรเตอร์ปินนอยด์ (triterpenoids) จากใบช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร 4.ย่านาง จัด อยู่ในสารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ประกอบ ด้วย น้ำตาลไซโรส xylose จัดอยู่ในกลุ่มอาหารละลายน้ำ ช่วย ขัดขวางการดูดซึมของน้ำตาล

          เห็ดนางรมและเห็ดแชมปิญอง มีการศึกษาพบว่าเห็ดเหล่านี้มีผลช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยสามารถนำมาย่าง ต้มยำ ผัด หรือตำน้ำพริก ตามความชอบ 6.หอมหัวใหญ่ พบว่า สารพรอสตาแกลนดินในหอมหัวใหญ่สามารถลดความดัน เลือด ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด และช่วยควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือด 7.กะเพรา นิยมใช้กะเพราแดง นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น ผัดกะเพรา ไข่เจียวกะเพราหมูสับ สปาเกตตีขี้เมาหมูสับ เป็นต้น 8.ตำลึง ส่วนใบ ราก และทั้งต้นช่วยลดน้ำตาลได้ดี โดยปริมาณใบตำลึงที่แนะนำให้กินเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคือ 20 กรัม/วัน 9.ว่านหางจระเข้พบว่ามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย 10.ถั่วลันเตา ถั่วแขก และถั่วฝักยาว มีโปรตีน ใยอาหาร สูงและมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จัดเป็นอาหารที่มี ไกลซีมิคต่ำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

          "หัวใจสำคัญของการบริโภคผัก ผลไม้ หรือสมุนไพร คือการเลือกกินให้หลากหลายเพื่อที่จะได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วน ซึ่งต้องรู้พื้นฐานร่างกายของตัวเองด้วยว่าสามารถกินได้มากน้อยเพียงใด เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน พร้อมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง" อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ เน้นย้ำถึงแม้ว่าอาหารจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิต แต่การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผัก ผลไม้และสมุนไพรไทยที่หาได้ง่าย ๆ.

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 เมษายน 2559 หน้า 10