เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ใช้เทคโนโลยีนำการเพาะปลูกมันฯ ทางออกช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน



tmp_20162803144721_1.jpg


          ข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ผลการสำรวจภาวะการผลิตและการค้ามันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2556/57 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 50 จังหวัด พบว่ามีพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 7.9 ล้านไร่ ให้ผลผลิตรวมประมาณ 28.746 ล้านตัน เฉลี่ยต่อไร่ละประมาณ 3.601 ตัน ถือว่ายังให้ผลผลิตน้อย แต่ต้นทุนการเพาะปลูกสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ยเคมี ค่าแรงงาน และค่าขนส่ง

          นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหาใหญ่ของวงการปลูกมันสำปะหลังและภาคอุตสาหกรรมคือ ขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรดำเนินนโยบายด้านการสนับสนุนปัจจัยทางการผลิตให้แก่เกษตรกรโดยตรง และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น พร้อมกับเร่งพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อลดการใช้แรงงานคน ทำให้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หันมาจับมือกับภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรภายใต้แนวทางประชารัฐ เพื่อยกระดับให้มีการปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธี

          ล่าสุดร่วมมือกับ บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังสู่ชาวไร่ที่ จ.กาฬสินธุ์ ภายใต้โครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังจากผลการวิจัยสู่เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างรายได้เพิ่ม” ถือเป็นการต่อยอดสีคิ้วโมเดล ที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

          ทั้งนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า จากการที่ได้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรภายใต้แนวทางประชารัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่โรงงานแป้งมันใน จ.กาฬสินธุ์ กว่า 100 ราย เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเกิดเกษตรกรเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ผลจากการดำเนินการพบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังจากแปลงเกษตรที่เก็บเกี่ยวอายุ 10-11 เดือน อยู่ระหว่าง 4-5 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิมประมาณ 20%

          นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรเครือข่าย บริษัท จิรัฐพัฒนาการเกษตรฯ ที่ผสมปุ๋ยใช้เอง สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ไร่ละ 230 บาท ผลผลิตจากแปลงเรียนรู้ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ที่มีการให้น้ำและใช้เทคโนโลยีตามคำแนะนำ มีการเก็บเกี่ยวที่อายุ 9 เดือน ได้ผลผลิตสูงถึง 7.4 ตัน/ไร่ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความมั่นคงในอาชีพอีกด้วย

          สำหรับการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ภายใต้โครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังจากผลการวิจัยสู่เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างรายได้เพิ่ม” ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นั้น ก็เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มความรู้ด้านการผลิตมันสำปะหลังอย่างเหมาะสมแก่เกษตรกรในเครือข่ายโรงงานแป้งมัน และสหกรณ์ รวมถึงกลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขาพระนอน จำกัด ด้วย

          เบื้องต้นได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังตามแนวทางของ “สีคิ้วโมเดล” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร มาถ่ายทอดให้แก่ชาวไร่มันสำปะหลัง ตามแนวทางประชารัฐ โดยจัดฝึกอบรมเกษตรกรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 3 ครั้ง ตามช่วงการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่พันธุ์มันสำปะหลัง การจัดการดิน การจัดการปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดวัชพืช การสำรวจโรคและแมลงศัตรูมันสำปะหลัง การประเมินผลผลิตและวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการผลิตมันสำปะหลัง

          ขณะเดียวกันยังจัดทำแปลงเรียนรู้ในศูนย์วิจัยฯ โรงงานแป้งมัน และกลุ่มสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ดูงานการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงในแปลง เพื่อเป็นแบบให้เกษตรกรข้างเคียงได้เรียนรู้ต่อไป

          สอดคล้องกับ นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า ใน จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่การเกษตร 2.48 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 2.48 แสนไร่ ให้ผลผลิต 7.5 แสนตัน เฉลี่ยผลผลิตไร่ละ 3 ตันถือว่าน้อยมาก หลังจากที่กรมวิชาการเกษตร ได้มีการพัฒนาส่งเสริม สนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องท่อนพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง ให้ปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธีพบว่าในแปลงทดลองมีผลผลิตไร่ละกว่า 10 ตัน ต่อไปเกษตรกรผู้ปลูกมันจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน

          ด้านนายนิรันดร์ สุขจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กล่าวว่า การร่วมมือกับบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่สนับสนุนการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังเท่านั้น แต่ทางบริษัท มิตซูบิชิฯยังได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์อีกด้วย ถือเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมภายใต้โครงการนี้ เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งและโลหะหนักในหัวมันสำปะหลัง โดยไม่ทำลายตัวอย่าง ถือว่าเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก

          ขณะที่นายสินชัย ถนอมสงวน เกษตรกรวัย 51 ปี จาก ต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 7 ไร่ ได้ผลผลิตแรกๆ ไร่ละ 5 ตัน แต่ตอนหลังใช้ปุ๋ยเคมีทุกปีทำให้ดินแข็ง ผลผลิตลดลงเหลือไร่ละ 4 ตัน ปัจจุบันราคา กก.ละ 2.20 บาท หลังจากมาร่วมโครงเรียนรู้การปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธีกับกรมวิชาการเกษตร ปลูกมันสำปะหลังมาแล้ว 7 เดือน ต้นมันฯ ขึ้นงาม และโตกว่าปกติ หากประเมินด้วยสายตาจะได้ผลผลิตมากกว่าไร่ละ 5 ตันแน่นอน

          ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในยุคแห่งการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูง แต่ผลผลิตน้อย ทางออกคือการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

          

          (ใช้เทคโนโลยีนำการเพาะปลูกมันฯ ทางออกช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน : โดย...ดลมนัส กาเจ)

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : คมชัดลึก วันที่ 28 มีนาคม 2559