เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง คอลัมน์: รู้ทันโรค: ระวัง โรคลมแดด ภัยร้ายที่มากับลมร้อน



tmp_20162803144026_1.jpg


          โรคลมแดด (Heat Stroke) คือ ภาวะที่ร่างกาย ได้รับความร้อนมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมความร้อนภายในร่างกายได้ให้อยู่ในสภาพปกติได้อาการหลักของโรคนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ 1. แบบไม่รุนแรง จะมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด แต่ยังรู้สึกตัว หากได้ดื่มน้ำเย็น และอยู่ภายในสถานที่ที่มีอากาศเย็นจะมีอาการดีขึ้น 2. แบบรุนแรง มีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเป็นลม หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างทันท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

          สัญญาณเตือนสำคัญของโรคลมแดด คือ จะไม่มีเหงื่อออก แม้อากาศร้อน ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศรีษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว แต่แผ่วเบา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ ซึ่งลมแดดแบบรุนแรงจะมีความแตกต่างและรุนแรงกว่าอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่มีเหงื่อออกด้วย

          ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลมแดดมากกว่าคนทั่วไปมีอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด  เช่น ออกกำลังกาย ทำงานก่อสร้าง เกษตรกร ฯลฯ 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน เนื่องจาก มีร่างกายที่กักเก็บความร้อนได้ดีกว่า คนทั่วไป จึงมักเป็นลมแดดได้ง่าย 5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะการอดนอนจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนได้ช้ากว่าปกติทำให้อาจเป็นลมแดดได้โดยไม่ทันตั้งตัว และ 6. ผู้ที่ดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอย ขยายตัวมากขึ้นส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ ขณะเดียวกันหากอยู่ใน สภาพที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึม เข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจจะต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อค และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูง อับ ไม่มีลมพัด ก็เป็นปัจจัสสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคลมแดด ได้เช่นกัน

          นพ.อานวย กํจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำแนวทางป้องกัน โรคลมแดดว่า หากพบผู้มีอาการ โรคลมแดด ให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้า ทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลาย ชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกาย ให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งให้ถึง มือแพทย์โดยเร็วที่สุด

          สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ควรพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด และอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยง ไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด  ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึก กระหายหรือริมฝีปากแห้ง ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อน ออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อน เลือกออกกำลังกาย ในช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และผู้มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวให้ รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

          นอกจากนี้ ควรช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เด็ก ผู้สูงอายุ อยู่กลางแดดหรือในรถที่จอดตากแดด และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ ฤดูร้อนนี้ก็จะกลายเป็นวันหยุดแห่งความสุข ของทุกคนในครอบครัว

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 มีนาคม 2559