เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง เกษตรอินทรีย์ที่บ้านแตน




          เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ ต.บ้านแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ราบต่ำซึ่งการทำนาเป็นไปอย่างยากลำบาก และเต็มไปด้วยสารเคมี จนเกษตรกรเองก็ไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูก ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือจากกระทิงแดงสปิริตเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)ด้วยงบกว่า50ล้านบาท โดยการให้องค์ความรู้แก่ชาวบ้านบางแตนเกี่ยวกับการทำนาเกษตรอินทรีย์ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี อีกทั้งยังต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

          สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงเล่าว่า ชาวบ้านที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้มี 33 ครอบครัวจากร้อยกว่าครอบครัว มีผืนนาจำนวน 203 ไร่ ซึ่งเป็นการทดลองทำนาสำหรับเกษตรกรที่ยังไม่แน่ใจที่จะเข้าร่วม

          กิจกรรมครั้งนี้ โดยจะนำกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดยโสธรและสุพรรณบุรีที่ประสบความสำเร็จในการทำนาแบบอินทรีย์มาให้ความรู้แก่เกษตรกรบางแตน โครงการเริ่มทำตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 และในอนาคต อีก3ปีพวกเขาอยากให้ชาวนาทั้ง33ครอบครัวทำนาแบบไร้สารเคมี100เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ทั้งหมด1,700ไร่ ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

          นอกจากนั้นยังช่วยด้านตลาดกับเกษตรกร โดยการอุดหนุนเงิน 1 บาทต่อข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม และ 50 สตางค์ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ชาวบ้านตั้งขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาชุมชน แต่งบประมาณส่วนนี้ จะทำโครงการดังกล่าวแค่ 5 ปีเท่านั้น

          โครงการการสนับสนุนข้าวอินทรีย์ สราวุฒิบอกว่าปัจจุบันกระแสความปลอดภัยของอาหาร(Food Safety)กำลังมาแรง และข้าวก็เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รับประทานอยู่แล้ว ซึ่งข้าวอินทรีย์หรืออะไรก็ตามที่เป็นอาหารปลอดสารเคมีกำลังเป็นกระแสอยู่ทั่วโลก ซึ่งดีต่อทั้งผู้บริโภคและคนปลูก

          "สิ่งที่เราทำเน้นความยั่งยืนในชุมชน สิ่งที่เราช่วยได้คือให้ความรู้ เอาทีมเราเข้าไปช่วย แต่ไม่ใช่แบบไปช่วยรับซื้อ ไปช่วยทุกอย่าง เพราะสุดท้ายแล้วเราตั้งเป้าว่า อีก5ปี ชาวบ้านบางแตนจะต้องยืนได้ด้วยตนเอง และเป็นโมเดลให้ที่อื่นๆได้"

          แม้จะเป็นเพียงการทดลอง และเป็นการเริ่มต้น แต่ผลที่ได้ในฤดูกาลแรก กลับดีอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยมีข้าวล็อตแรกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ 77,480 กิโลกรัมจากที่นา 203 ไร่ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอควร อีกทั้งยังเป็นข้าวที่ปลอดสารเคมีสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าปกติ การเปลี่ยนแปลงจากเกษตรแบบเคมีมาเป็นเกษตรแบบอินทรีย์ นอกจากจะทำให้ผลผลิตเปลี่ยนแปลงเป็นข้าวที่ไร้สารพิษ ลดต้นทุนจากเดิม เพราะการทำนาโดยใช้สารเคมีจะมีต้นทุนไร่ละ4,000 บาทต่อไร่ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการทำนาแบบอินทรีย์ ต้นทุนจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ มูลค่าข้าวก็เพิ่มจากเดิม จากขายได้เกวียนละ8,000-10,000บาท เพิ่มเป็น12,000บาท

          นอกจากนั้นโครงการนี้ ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวบ้านพึ่งพิงตนเองได้ เชา เที่ยงแท้ กำนันบ้านบางแตน บอกว่า จากที่ชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ ก็มีการรวมตัวพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

          "จากที่ไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูก ก็สามารถกินได้อย่างสบายใจ สุขภาพดีขึ้น เพราะไม่ต้องสูดดมสารเคมีเวลาพ่นยาฆ่าแมลง"

          กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างวันนี้ กำนันเชา เคยโดนดูถูกอย่างมาก หลายคนบอกว่า เขาบ้า แต่กำนันไม่สนใจ และมุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ต่อ นอกจากลดต้นทุนแล้ว ยังทำให้ได้กินข้าวปลอดสารพิษ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพ

          "เขาว่าเราบ้า เราก็ปล่อยให้เขาว่า เมื่อปลูกข้าว แล้วเราสามารถลดต้นทุนได้ ได้กินข้าวปลอดสารพิษ สุขภาพก็ดี แล้วพวกเขาก็ได้เห็นตัวอย่างจากเรา เราบ้าเพื่อตัวของเราด้วย และบ้าเพื่อพี่น้องประชาชนในตำบลของเรา"

          นอกจากผลผลิตที่เป็นข้าวแล้ว ทางชุมชนบ้านบางแตน ยังมีการแปรรูปข้าวอินทรีย์ให้เป็นแป้งทำเป็นเส้นขนมจีน ประพันธ์ พุ่มพวง ผู้ผลิตเส้นขนมจีนบอกว่า จากเมื่อก่อนที่ทำเส้นขนมจีนวันเว้นวัน หลังจากใช้ข้าวอินทรีย์ในการทำเส้นขนมจีน ก็มีออเดอร์เข้ามามากขึ้นจนต้องทำทุกวัน

          "พอใช้ข้าวอินทรีย์ ลูกค้าก็บอกว่าเส้นเหนียวนุ่มขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนใช้ข้าวเคมีเส้นจะแข็งกระด้าง ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้นราคา ยังขายที่30บาทต่อกิโลกรัม แต่อนาคตคงจะต้องขึ้นราคา เพราะปริมาณของข้าว1กิโลกรัมสามารถทำเส้นขนมจีนได้ 2 กิโลครึ่ง ซึ่งน้อยลงกว่าการใช้ข้าวเคมีมาทำ แต่ลูกค้าชอบมากกว่า เพราะดีต่อสุขภาพ" ผู้ทำเส้นขนมจีนได้พูดถึงผลของการใช้ข้าวอินทรีย์ในการผลิต

          จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่แล้ว หากสามารถจับจุดได้และภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง นี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรในประเทศไทยจะสามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เกษตรกรก็คงต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน หากไม่รู้จะทำอย่างไรให้ลองศึกษา "บ้านบางแตนโมเดล" เป็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้ก็น่าสนใจไม่น้อย

          การทำนาแบบอินทรีย์ ต้นทุนจะลดลงมาอยู่ทีประมาณ 2,000 บาทต่อไร่

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 มีนาคม 2559 จุดประกายหน้า3