เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง วิธีปลูกกล้วยหอมทองแบบสหกรณ์กล้วยหอมทองปลอดสารเคมี จ.ชุมพร จำกัด



tmp_20162003162323_1.jpg


             จังหวัดชุมพรนับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกกล้วยหอมทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสหกรณ์ผู้บริโภคจากประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง จวบจนทุกวันนี้

             โดยความต้องการผลผลิต มีถึงสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 20 ตัน สิ่งสำคัญที่สุดของการส่งผลไม้เข้าญี่ปุ่น คือ การควบคุมเรื่องสารเคมีและแมลงบางชนิด เพราะผู้บริโภคของญี่ปุ่นให้ความใส่ใจในเรื่องสารเคมีมากซึ่งตามข้อตกลงจะต้องเป็นกล้วยที่ปลอดสารเคมี 100% ส่วนแมลงและโรคพืชที่ไม่ใช่แมลงต้องห้ามก็สามารถนำเข้าได้ แต่แมลงที่ทางญี่ปุ่นเข้มงวดมากที่สุด คือ แมลงวันผลไม้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรจะต้องผลิตกล้วยหอมทองตามข้อกำหนดที่ระบุในสัญญา

             กล้วยหอมปลูกง่ายกว่าพืชหลายชนิด แต่จะต้องจัดการสวนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงเก็บเกี่ยวจะต้องใส่ใจ และหลังจากตัดปลีกล้วยแล้วนับไปอีก 2 เดือน ก็ต้อง 2 เดือนจริง ๆ ถ้าเกินไปก็ไม่สามารถขายได้เพราะกล้วยจะสุก สำหรับการปลูกกล้วยหอมทองของสมาชิกสหกรณ์กล้วยหอมทองปลอดสารเคมี จังหวัดชุมพร จำกัด นั้น ต้นทุนการปลูกต่อพื้นที่ 1 ไร่ จำนวนปลูก 400 หน่อ จะอยู่ที่ประมาณ 14,040 บาท ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน 3,000 บาท ค่าหน่อพันธุ์ 2,600 บาทค่าแรงปลูก 2,000 บาท ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 750 บาท ค่าปุ๋ยคอก 2,400 บาท ค่าตัดหญ้า 1,920 บาท

             พื้นที่ 1 ไร่ จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 80-90% รายได้เฉลี่ยต่อเครือประมาณ 70-90 บาท ในสภาพที่กล้วยสมบูรณ์และได้รับผลเต็มที่ การปลูกของเกษตรกรสมาชิกที่นี่จะเริ่มด้วยการเตรียมดินโดยไถดะ 1 ครั้ง ตากดินแล้วไถพรวน 1-2 ครั้ง ให้ดินร่วนซุยไม่มีวัชพืช ถ้ามีวัชพืชมากกว่าร้อยละ 20 ต้องไถพรวนใหม่หรือ ทำแปลงขนาดกว้าง 7 เมตร ปลูก 3 แถว 2x1.8 เมตร ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 2x2 เมตร ขนาดหลุมปลูก กว้าง 80 ซม. ยาว 80 ซม. ลึก 30 ซม. รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 5 กิโลกรัมต่อหลุม ใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปราศจากศัตรูพืช หน่อมีความยาว 25–35 ซม. มีใบแคบ 2–3 ใบ วางหน่อพันธุ์ที่ก้นหลุม กลบดินและกลบดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง และรดน้ำให้ชุ่มให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เมื่อหน้าดินแห้งจะให้น้ำ พร้อมเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินลึก 15 เซนติเมตร เพื่อตรวจค่าดินอย่างต่อเนื่อง และใส่ปุ๋ยคอกครั้งที่ 1 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 เดือน อัตรา 80–100 กรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 250 กรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 5 เดือน อัตรา 250 กรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ครั้งที่ 4 เมื่ออายุ 6-7 เดือน เพื่อบำรุงคุณภาพผลผลิต อัตรา 50-100 กรัม ต่อกอ

             หลังจากปลูกประมาณ 3–5 เดือน จะ แต่งหน่อเพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์ พร้อมตัดแต่งทางใบเมื่อกล้วยมีอายุ 3–5 เดือน ตัดเฉพาะใบที่หมดอายุการใช้งาน โดยเหลือไว้ไม่ต่ำกว่า 8–10 ใบ ประมาณ 6-8 เดือนกล้วยจะมีลำต้นขนาดใหญ่พร้อมออกปลี โดยจะแตกใบยอดสุดท้าย ซึ่งมีขนาดสั้นและเล็กชูก้านใบชี้ขึ้นท้องฟ้า เรียกว่า “ใบธง” จากนั้นกล้วยจะแทงปลีกล้วย และกาบปลีจะบานจนสุดหวี หลังจากกล้วยออกปลีมาระยะหนึ่ง หวีที่อยู่ปลายเครือจะเริ่มเล็กลงและผลจะสั้นขนาดของผลไม่สม่ำเสมอกันซึ่งเรียกว่า “หวีตีนเต่า” จะตัดแต่งปลายเครือถัดจากหวีตีนเต่า 3 ชั้น เพื่อไว้สำหรับจับปลายเครือเมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว หลังจากตัดปลีออกจากเครือแล้วประมาณ 53 วัน จะได้เนื้อกล้วยประมาณ 75–80% จึงทำการตัดทั้งเครือแล้วนำมาหุ้มด้วยแผ่นโฟมขนาด 3 มม.เพื่อป้องกันกล้วยช้ำระหว่างการนำส่งโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อทำการบรรจุส่งจำหน่ายยังต่างประเทศต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก  :  เว็บไซต์เดลินิวส์   http://www.dailynews.co.th/agriculture/386162

 


คลังภาพ (Gallery)
pic_20162003162323_1.jpg