เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง กรมวิชาการเกษตรแนะปลูกพืชแซมยางพาราสร้างรายได้เสริม



tmp_20161202115340_1.jpg


          ในสถานการณ์ที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากมาตรการการช่วยเหลือยางพาราในระยะเร่งด่วนของรัฐบาลแล้ว การช่วยตนเองของชาวสวนยางในการปลูกพืชเสริมรายได้และทำอาชีพเสริมอื่นๆ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หน่วยงานกรมวิชาการเกษตร ทั้งในส่วนกลางและศูนย์วิจัยในภูมิภาคจะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ ในรูปแบบเอกสาร การให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนจัดให้มีศูนย์เรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆที่ศูนย์วิจัยตั้งอยู่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางสำคัญของประเทศไทย สำหรับคำแนะนำในการปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยาง และกิจกรรมเสริมรายได้ ของชาวสวนยางเกษตรกรจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของชนิดพืชโดยเฉพาะการเจริญเติบโตของพืชในสภาพร่มเงา ตลอดจนวิธีการปลูกพืชร่วมกับยางโดยไม่ให้มีผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายกับการเจริญเติบโตของยาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมคือ การปลูกพืชแซมยาง การปลูกพืชร่วมยาง และการประกอบอาชีพเสริมรายได้อื่นๆ ของชาวสวนยาง โดยทั้ง 3 กิจกรรมนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริม 10,000 - 70,000 บาทต่อไร่ต่อปี ขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิดที่เกษตรกรเลือก

          การปลูกพืชแซมยาง สามารถปลูกได้ในระยะก่อนยางให้ผลผลิต คือ ในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งสามารถปลูกพืชแซมยางได้หลายชนิด ได้แก่ 1.กลุ่มพืชล้มลุกและเป็นพืชอายุสั้น เช่น สับปะรด ข้าวโพด ข้าวไร่ พืชตระกูลถั่ว แตงโม และ พืชผักต่างๆ เป็นต้น โดยพืชเหล่านี้ควรปลูกห่างแถวยางประมาณ 1 เมตร / 2.กล้วยและมะละกอ ควรปลูกแถวเดียวบริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาง / 3.หญ้าอาหารสัตว์ ควรปลูกห่างแถวยางประมาณ 1.5 - 2 เมตร หญ้าอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆจะไม่แนะนำให้ปลูกแซมยางเพราะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง / 4.มันสำปะหลัง ควรปลูกในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 โดยปลูกห่างแถวยางด้านละ 2 เมตร และ ไถตัดรากมันสำปะหลังปีละครั้ง ห่างจากแถวมันสำปะหลัง 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันระบบรากมันสำปะหลังเข้ามาอยู่ในแถวของต้นยาง / และ 5.อ้อยคั้นน้ำ ควรปลูกระหว่างแถวยาง ให้ห่างแถวยาง 2.2 เมตร ปลูกครั้งเดียวไว้ตอ 2 ครั้ง เก็บเกี่ยว 3 ครั้ง ในเวลา 3 ปี ไม่แนะนำให้ปลูกอ้อยอุตสาหกรรมแซมยางในเขตแห้งแล้งและในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาด้านไฟไหม้ตามมา

          การปลูกพืชร่วมยาง คือ พืชที่ปลูกเพื่อให้ผลผลิตพร้อมๆกับยาง ซึ่งจะเป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา แบ่งเป็น 4 ลักษณะ 1.พืชร่วมยางที่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของยาง เมื่อต้นยางมีอายุ 3 ปีขึ้นไป เช่น ขิง ข่า ขมิ้นผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิด โดยปลูกระหว่างแถวห่างแถวยาง 1.5 เมตร / 2.พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางเมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งมีแสงรำไรเพียงพอและมีฝนตกชุก จะเหมาะสมต่อการปลูกไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกวงศ์ขิง ไม้ดอกสกุลเฮลิโกเนีย และไม้ประดับบางชนิด โดยปลูกระหว่างแถวยาง ห่างแถวยาง 1.5-1.7 เมตร / 3.พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้แก่ พืชสกุลระกำ หวายตะค้าทอง โดยปลูกกึ่งกลางแถวยาง สำหรับหวายตะค้าทองอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสวนยาง แนะนำให้ปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ก่อนการโค่นยาง / และ 4.การปลูกไม้ป่าในสวนยาง มีไม้ป่าบางชนิดที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางขนาดใหญ่ โดยปลูกผสมผสานกึ่งกลางระหว่างแถวยางและทดแทนการปลูกซ่อมต้นยาง เช่น ตะเคียนทอง ยางนา ยมหิน และตำเสา โดยพืชในกลุ่มนี้เกษตรกรควรปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อดูความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละภูมิภาคของประเทศ

          การประกอบอาชีพเสริมรายได้อื่นๆของชาวสวนยาง เช่น การเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มในสวนยาง การเลี้ยงผึ้ง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ยางบางส่วนเพื่อปลูกพืชอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน กล้วย กาแฟ และพืชอื่นๆ สำหรับการปลูกกาแฟทดแทนยาง เกษตรกรอาจจะเลือกปลูกกาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นกาแฟที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งปัจจุบันกาแฟเป็นพืชที่มีตลาดค่อนข้างดี จึงเป็นพืชที่น่าสนใจในการปลูกทดแทนพื้นที่ปลูกยางพาราบางส่วน พื้นที่ปลูกควรมีสภาพดินเป็นดินร่วน มีหน้าดินลึกและไม่มีน้ำขัง โดยเนื้อที่ 1 ไร่ สามารถปลูกกาแฟได้ประมาณ 178 ต้นและเนื่องจากกาแฟโรบัสต้าเป็นพืชผสมข้ามพันธุ์

          จึงควรปลูกอย่างน้อย 3 สายพันธุ์เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต สำหรับผลผลิตนั้นกาแฟจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3 ปี โดยจะให้ผลผลิต ผลสด 390 - 450 กิโลกรัมต่อไร่ การลงทุนสร้างสวนใหม่ปีแรก 7,000-8,000 บาทต่อไร่ ปีและปีต่อไปประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สามารถสร้างรายได้ 13,650 -15,750 บาทต่อไร่

          นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า การปลูกพืชร่วมกับยางทั้ง3 กิจกรรมนั้น เกษตรกรจะต้องศึกษาว่า เกษตรกรต้องการปลูกพืชชนิดใด ให้ผลผลิตเร็วหรือช้า พืชที่จะนำเข้าไปปลูกร่วมเหมาะกับพื้นที่หรือไม่ และสามารถเจริญเติบโตร่วมกับต้นยางพาราในช่วงอายุใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เกษตรกรจะต้องเข้ามาศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำกับเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง อย่างเช่นการปลูก ดาหลา ซึ่งดาหลาเป็นพืชที่ขึ้นได้ในสภาพร่มเงา ชอบอากาศชื้น เหมาะที่จะปลูกในระหว่างแถวยางหลังจากปลูกยางไปแล้ว 5 ปี ปลูกได้ในดินหลายชนิด มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ อายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน ดอกสามารถจำหน่ายได้ทั้งเป็นไม้ประดับ เป็นอาหาร และลำต้นสามารถนำมาสกัดเป็นเส้นใยได้ โดยดาหลาจะออกดอกและให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 4 ปี ผลผลิตที่ได้ 40-50 ดอกต่อกอ เกษตรกรใช้ต้นทุนประมาณ 3,500 บาทต่อไร่ และสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60,000 บาทต่อไร่

          อย่างไรก็ตาม การปลูกยางพาราในระยะยาว เกษตรกรชาวสวนยางไม่ควรพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว เกษตรกรควรมีการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อให้มีการกระจายรายได้ไปยังกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยน้อมนำพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เกิดความพอเพียงซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ

 

ขอบคุณข้อมูลข่าจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559

ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.sator4u.com/paper/1911