เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง เทคโนโลยีการเงิน ฟินเทค เสริมทัพธุรกิจสตาร์ทอัพ



tmp_20150912160852_1.jpg


          กิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ฟินเทคคือการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กันทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มกิจกรรมทางการเงิน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกเมื่อปี 2551 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

          ขณะที่ในช่วงนั้นการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเครดิตเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และการทำธุรกิจแนวใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งฟินเทคถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สตาร์ทอัพไม่ควรมองข้าม จึงทำให้ฟินเทคกลายเป็นนวัตกรรมมาแรงที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก เช่น สหรัฐ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีกระแสตอบรับจากทางสถาบันการเงิน ผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และนักธุรกิจรุ่นใหม่เป็นอย่างดี

          ความเชื่อมโยงจากเทคโนโลยีฟินเทคเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ฟินเทคเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ตัวอย่างธุรกิจที่ฟินเทคเข้าไปเป็นส่วนสำคัญคือ สต๊อกเรดาร์ (StockRadars) แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์และให้คำปรึกษาในเรื่องการเล่นหุ้น โดยฟินเทคเข้ามาช่วยในการชำระเงินค่าสมัครสมาชิกได้อย่างสะดวก

          2.กลุ่มผู้บริโภค เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้คิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เช่น เลือกชมสินค้าและบริการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และชำระค่าบริการได้สะดวกผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้นถึง 40% จากเดิม

          3.กลุ่มสถาบันทางการเงินและนักลงทุนสถาบัน โดยสถาบันทางการเงินได้ประโยชน์จากฟินเทคผ่านการเติบโตของกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ เพราะเป็นเสมือนตัวกลางในธุรกรรมทางการเงิน และเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับลูกค้าด้วย

          ฟินเทคถือเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพให้สตาร์ทอัพ โดยข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีฟินเทคเกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 4 เท่าตัว และอนาคตน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.posttoday.com วันที่ 8 ธันวาคม 2558