เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง "ผักไหมโมเดล" ที่นาต้นแบบอานิสงส์ "เกษตรแปลงใหญ่"



tmp_20151211104237_1.jpg


          สุรัตน์ อัตตะ

          ความสำเร็จจากศูนย์เรียนรู้พลังเกษตรสร้างสุขใน ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นโมเดลต้นแบบไม่เผาตอซังแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 3 ประสาน ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรจนบรรลุเป้าหมาย กลายเป็นต้นแบบให้แก่อาชีพทำนา อันเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยเน้นการบริหารจัดการใน 4 ด้านประกอบด้วยการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การจัดการเครื่องจักรกล รวมไปถึงดูแลด้านการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต

          "ถ้าเราร่วมกันผลิตในรูปแบบแปลงขนาดใหญ่จะทำให้เรื่องการจัดการต้นทุนลดลง การควบคุมประสิทธิภาพต่างๆ จะดีขึ้น ทำในรูปแบบของกลุ่ม ถ้าเป็นในต่างประเทศแปลงใหญ่ก็คืออีโคโนมีออฟสเกล เกษตรกรรายเดียวทำแปลงขนาดใหญ่ แต่บ้านเราไม่มีแบบนั้นต้องร่วมกันทำ ในเรื่องการบริหารจัดการผักไหมโมเดลใช้แนวคิดนี้"

          รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงผักไหมโมเดลระหว่างผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพมาจัดแสดงในงานวันครบรอบ 48 ปีของกรมส่งเสริมการเกษตร ว่าเป็นผลมาจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตใน ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของจังหวัดและภาคอีสานตอนล่าง ปัจจุบัน "ผักไหมโมเดล" มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประมาณ 2,000 ไร่ มีสมาชิกอยู่ในเครือข่ายจำนวน 157 ราย มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร โดยแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็นกลุ่มๆ ในรูปของวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต การทำแพ็กเกจจิ้ง โดยกลุ่มจะดูแลด้านการตลาดให้สมาชิกทั้งหมด

          "จุดเด่นของที่นี่คือเรื่องการบริหารจัดการ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากความคิด 5 ร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์ เป็นการคิดร่วมกันที่เรียกว่าทฤษฎี 3 ขา ก็คือภาครัฐ ภาคเอกชนและตัวเกษตรกร ฉะนั้นทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกติกาของกลุ่ม จึงทำให้ควบคุมได้ง่ายในเรื่องของคุณภาพ เช่น การทำนาปกติ เกษตรกรขาดแรงงานก็ต้องทำนาหว่าน แต่นี่เราบริหารจัดการเครื่องจักรในแปลงรวม บริการสมาชิกแบบครบวงจร จึงห้ามทำนาหว่าน ต้องทำนาดำ นาหยอด"

          หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ยอมรับว่า การปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ผักไหมโมเดล ฤดูการผลิตที่ผ่านมาประสบความสำเร็จดีมาก เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตที่ได้ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทำให้ขณะนี้มีการเตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มอีก 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ราษีไศล อ.น้ำเกลี้ยง และอ.เมือง โดยใช้ผักไหมโมเดลเป็นต้นแบบในการดำเนินการ

          "เราทำแปลงใหญ่ผ่านมาฤดูหนึ่งแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จดีมาก ตอนนี้ได้ขยายผลไปอีก 3 อำเภอ คือ ราษีไศล น้ำเกลี้ยง และเมือง ที่ทำอย่างนี้ก็เพราะว่าผลผลิตผักไหมผลิตยังไงก็ไม่พอ เราจำเป็นต้องขยายเวทีเครือข่ายกลุ่มเพื่อผลิตป้อนให้ผักไหมโมเดล ซึ่งเป็นต้นแบบหลักในการดำเนินงานของจังหวัด ส่วนราคาขายเราได้ถึงราคา กก.19 บาท กลุ่มเป็นผู้รับซื้อหมด ทั้งที่ราคาของรัฐบาล โรงสีรับซื้อที่ 13 บาท ได้ส่วนต่าง 6 บาท"

          ขณะที่ นิยม วงษ์ภักดี เกษตรกรวัย 62 ปี จากบ้านบางนาทุ่ง ต.ผักไหม เผยว่ามีที่นาอยู่ 11 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิปีละครั้ง ในอดีตได้ผลผลิตข้าวไร่ละ 300-350 กก. หลังจากเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 600 กก. บางเจ้าได้ถึงไร่ละ 700 กก. และยังปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพิ่มรายได้และยังเป็นการบำรุงหน้าดินอีกด้วย

          "ตอนนี้ผมไม่ได้ทำนาขายข้าวเปลือก แต่หันมาปลูกข้าวขายเมล็ดพันธุ์ และขายข้าวสารในนามของศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ต.ผักไหม ทำให้ผมมีรายได้มากกว่าเก่ากว่า 2 เท่าตัว และไม่จำเป็นต้องขายแรงงานอีก" เกษตรกรรายเดิมกล่าวย้ำ

          ผักไหมโมเดลนับเป็นต้นแบบของการทำนารวม อันเป็นผลมาจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง


 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก  :  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558