เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง โคราชหันหลังให้เกษตรพันธสัญญา เลี้ยงไก่โคราช รายได้ดีกว่า




Source - เดลินิวส์ 2 กันยายน 2558

          การทำงานร่วมกันระหว่าง กลุ่มนักวิจัย เกษตรกร ผู้นำชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของเกษตรกรและความต้องการของตลาดของไก่เนื้อโคราช เมื่อไม่นานมานี้
เริ่มต้นขึ้นจากการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


          ผู้นำชุมชน เกษตรกรในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ในพื้นที่ที่มีเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อส่งจำหน่ายตลาดในจังหวัดนครราชสีมา  พบว่าเกษตรกรมีความต้องการที่จะเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่มีการลงทุนไม่สูงมาก อยู่ในข่ายความสามารถของเกษตรกรที่จะทำได้ และมีอิสรภาพในการประกอบอาชีพ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บริษัทเอกชน หรือเป็นลักษณะของเกษตรพันธสัญญา


          ขณะเดียวกันไก่พื้นเมืองเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไก่พื้นเมืองเป็นวัตถุดิบของอาหารหลักประจำภูมิภาค และตลาดต้องการไก่พื้นเมืองที่มีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม หนังเหลือง และแข้งเหลือง


          และจากการศึกษาข้อมูลของทีมวิจัยก็พบว่า ไก่เนื้อพันธุ์โคราชสามารถเข้ามาเอื้อต่อประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ได้รับข้อสรุปจากคณะศึกษาวิจัยของกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้นำชุมชน เกษตรกรในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ก็รวมตัวกันศึกษาอย่างจริงจัง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรรัตน์ โมฬี  จากสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยี


          การเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา แล้วก็พบกับความสำเร็จได้รับคำตอบที่ปัจจุบันได้ต่อยอดขยายสู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง จนผู้คนทั่วไปต่างสนใจหาซื้อมาบริโภคกันอย่างต่อเนื่องในทุกวันนี้


          ไก่เนื้อโคราชสามารถเลี้ยงในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพราะใช้น้ำเพียง 1-1.5 ลิตรต่อตัว ตั้งแต่อายุ 1 วันถึงส่งตลาด การลงทุนด้านโรงเรือนไม่สูง อยู่ที่ 5,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเกษตรกรและจำนวนไก่ที่เลี้ยง ลูกไก่อายุ 1 วันมีราคาที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ตัวละ 19 บาท ต้นทุนการผลิตไก่มีชีวิตต่อกิโลกรัมประมาณ 60-65 บาท จำหน่ายไก่มีชีวิตกิโลกรัมละ 75-80 บาท สามารถใช้แรงงานในครอบครัวและผู้สูงอายุในการเลี้ยงไก่ประมาณ 500 ตัว ในกรณีที่เกษตรกรเลี้ยงไก่ 500 ตัวต่อรุ่น โดยให้กินอาหารเต็มที่ จะมีกำไรประมาณ 6,000 บาทต่อการเลี้ยง 2 เดือน


          ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ใช้ไก่เนื้อโคราชเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพแล้วมาก กว่า 100 ราย กระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ ในอนาคตอันใกล้นี้ นักวิจัยด้านการ เกษตร และด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัย จะได้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยเป็นการต่อยอด คือการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ในการติดตามอุณหภูมิ ความชื้น ภายในโรงเรือนผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ การสั่งจ่ายอาหารผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ การออกแบบระบบเพื่อให้สัตวแพทย์ช่วยเกษตรกรในการวินิจฉัยโรคได้อย่างเป็นปัจจุบัน โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ฟาร์ม โดยระบบทั้งหมดนี้เกษตรกรจะสามารถเข้าถึงได้ ทั้งในเรื่องของราคาและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี


          สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายไก่เนื้อโคราชแบบไม่ต้องมีพันธสัญญา เหมือนกับที่ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ภาคอีสานทั่วไปนั้น สามารถติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโล ยีสุรนารี จ.นครราชสีมา หรือคุณณัฐวัฒน์ นักวิชาการเกษตรทีมงานการวิจัยได้ที่โทร. 08-7253-7975.