เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง หนุนใช้ Water Footprint เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ



tmp_20150209145622_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 28 ส.ค. 2558

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. มีนโยบายที่จะนำเสนอให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าต่อจากนี้การใช้น้ำต้องเป็นไปอย่างประหยัด ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่ออนุรักษ์น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับคนรุ่นหลังได้มีน้ำใช้ โดยเฉพาะต้องมีการนำกระบวนการเรื่อง "Water Footprint" มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม


          โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถูกแปรรูปไปถึงมือผู้บริโภคว่าแต่ละสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีการใช้น้ำตลอดกระบวน การผลิตปริมาณมากน้อยเพียงใด ซึ่งสินค้าที่มี Water Footprint น้อยย่อมได้รับความสนใจมากกว่าสินค้าที่มี Water Footprint มากเพราะมีการใช้น้ำ และทำให้น้ำสกปรกน้อยกว่า


          โดย Water Footprint แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำสีเขียว เป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในรูปของความชื้นในดิน เนื่องจากน้ำฝนที่ถูกใช้ไปในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืชผลทางการเกษตร การทำไม้ และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ น้ำสีน้ำเงิน เป็นปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินที่ถูกใช้ไปในกระบวนการผลิต


          เช่น น้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำในอ่างเก็บกักน้ำต่าง ๆ รวมทั้งน้ำบาดาล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม น้ำสีเทา เป็นปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าและภาคบริการ ซึ่งคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตให้เป็นน้ำดีตามค่ามาตรฐาน


          โดยค่าเฉลี่ย Water Footprint ของประเทศไทยในขณะนี้สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี เป็นผลมา จากการใช้น้ำที่ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรสูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี ซึ่งเกิดจากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นพืชผัก สินค้าประมง ปศุสัตว์ล้วนใช้น้ำทั้งสิ้น หากคิดสัดส่วนน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปีละประมาณ 14,000 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งเขื่อน นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจของชาวต่างชาติโดยเฉพาะการผลิตแอลกอฮอล์ที่เข้ามาใช้น้ำบาดาลในประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ใช้กับน้ำที่ส่งออกไปในรูปของสินค้าให้มีความสมดุลกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียสมดุลด้านน้ำได้


          อย่างไรก็ตาม ด้านการเกษตรกรรมของไทยถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้น้ำสูงสุดคิดเป็น 75% ตัวอย่าง การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง  3,400 ลิตร นม 1 แก้ว ใช้น้ำ 200 ลิตร กาแฟ 1 แก้ว ใช้น้ำ 140 ลิตร ไข่ไก่ 1 ฟอง ใช้น้ำ 135 ลิตร เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาข้อมูล Water Footprint ของระบบการผลิตพืชและสัตว์แต่ละชนิดจะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น.