เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสหกรณ์ใน กทม.



tmp_20150209145052_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 27 ส.ค. 2558

          จากนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่ได้เดินทางไปประชุม ครม.ที่จังหวัดนครราชสีมา และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด ทำให้เล็งเห็นว่าสหกรณ์นั้นมีความเข้มแข็งและสามารถเป็นที่พึ่งพิงของสมาชิกได้ ควรที่จะพัฒนาเป็นสหกรณ์ต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ด้านการสหกรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสมาชิกสหกรณ์ได้เข้ามาศึกษาถึงวิธีการดำเนินงาน


          กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้สนองแนวนโยบายดังกล่าว ด้วยการขยายการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการสหกรณ์ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพในด้านการบริหารธุรกิจ สมาชิกได้รับประโยชน์และมีส่วนร่วมกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับสหกรณ์ รวมถึงสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านการสหกรณ์ จำนวน 210 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจและสมาชิกสหกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาเยี่ยมชม เรียนรู้วิธีการบริหารสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องหลักและวิธีการสหกรณ์ ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพของประชาชนได้


          สำหรับในส่วนของ กทม. นั้น นายบุญเสริม ไกรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้คัดเลือกชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 79 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านการสหกรณ์


          เนื่องจากมีความพร้อม และประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ดูแลสหกรณ์ภาคการเกษตรของพื้นที่  เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานได้ โดยศูนย์แห่งนี้จะช่วยสะท้อนแง่มุมของการเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง และกระบวนการใน การแก้ไขปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายใต้ขบวนการสหกรณ์


          สำหรับกิจกรรมภายในศูนย์ฯ จะแบ่งออกเป็น  3 ส่วน เริ่มจากรับฟังการบรรยายภาพรวมกิจกรรมภายในศูนย์ผ่านวีดิทัศน์ รับทราบถึงความเป็นมาของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จากนั้นเป็นเรื่องหลักและวิธีการสหกรณ์ นำเสนอถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรวมกันเป็นสหกรณ์ การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนโดยการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ และนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างไร


          ตลอดถึงความเข้าใจในอุดมการณ์สหกรณ์ ซึ่งก็คือความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสหกรณ์จะอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกัน สหกรณ์ไม่ใช่องค์กรที่มุ่งแสวงหาผลกำไรจากสมาชิก แต่มุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาอาชีพให้สมาชิกมีความกินดีอยู่ดี เมื่อสหกรณ์ดำเนินธุรกิจจนเกิดผลกำไรก็จะนำไปจัดสรรให้กับสมาชิกในรูปของเงินปันผลเฉลี่ยคืน ตามสัดส่วนธุรกิจที่สมาชิกมาร่วมทำกับสหกรณ์และส่วนหนึ่งจัดสรรเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกและทุนสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนของตนเอง


          สำหรับจุดสุดท้าย คือศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทย ซึ่งทางชุมนุมสหกรณ์ฯได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็นหน่วยงานหลักในการทำธุรกิจเรื่องข้าว จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้าว ซึ่งผลผลิตจากสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศจะถูกรวบรวมและวางจำหน่ายในศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทยแห่งนี้ มีข้าวทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ ซึ่งสหกรณ์ต่าง ๆ ได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกเพาะปลูกและแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุลงถุงพร้อมจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของสหกรณ์กว่า 200 ชนิด แบ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวพันธุ์หายาก อาทิ ข้าวสังข์หยด ข้าวพญาลืมแกง ข้าวลืมผัว ข้าวฮาง รวมถึงข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และข้าวที่ผู้บริโภคนิยม

 

        ได้แก่ ข้าวหอมมะลิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อนำมาบริการแก่ผู้บริโภคและผู้ที่ดำเนินธุรกิจข้าวสารทั้งในและต่างประเทศได้มาเลือกชม ชิมและซื้อกลับไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนดำรงไว้ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ซึ่งเป็นข้าวที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และสร้างการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

      ด้าน นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศ ไทย จำกัด กล่าวว่า การดูงานศูนย์เรียนรู้ที่ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด นั้น ผู้มาชมงานจะสามารถเห็นถึงการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดของเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรได้เป็นอย่างดี และสามารถนำไปขยายผลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหรือต่อสหกรณ์ของตนเองในอนาคตได้.