เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง กว่า 891 โครงการ ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ล้วนเกื้ออาทรแก่อาณาประชาราษฎร์



tmp_20150209142647_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 18 ส.ค. 2558

          ในฐานะสตรีและแม่ของแผ่น ดิน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นแบบอย่างและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและความเป็นไทยให้ประจักษ์ต่อคนทั้งโลก ถึงคุณค่าของหญิงไทยที่ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามควรค่าแก่การจารึกและน้อมรับมาปฏิบัติอย่างแท้จริง  ในการสร้างประโยชน์และตอบแทนแผ่นดินเกิด


          พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนด้วยพระเมตตาและความละเอียดรอบคอบห่วงใยตั้งแต่เด็กที่อยู่ในครรภ์ แม่ วัยรุ่น วัยทำงานและวัยชรา ทรงเกื้ออาทรและห่วงใยในการพระราชทานความช่วยเหลืออย่างไม่เลือกเชื้อชาติ ภาษา และฐานะทางสังคม


          การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาค นับแต่พุทธ ศักราช 2498 โดยเริ่มที่ตำบลห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดแรกนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ประเสริฐ ที่สำคัญคือ ทรงมีโอกาสได้ศึกษาสภาพท้องถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง


          ทรงวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจึงพระราช ทานพระราชดำริริเริ่มโครงการที่หลากหลาย โดยในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการพัฒนาด้านการเกษตร และการทำมาหากินของราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีคำแนะนำพระราชทานเพื่อการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่กันไปเสมอ เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า


          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่พระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวโดยแท้ ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร และทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ หลายโครงการ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของราษฎร โดยเฉพาะเรื่องของงานฝีมือพื้นบ้าน หรือหัตถกรรมในครัวเรือน เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูและพัฒนางานหัตถ กรรมพื้นบ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ


          เช่น การทำเครื่องเงินเครื่องทอง การทอผ้า การจักสาน โดยให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพพิเศษ และดำเนินการจัดตั้งกลุ่มศิลปาชีพด้านต่าง ๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และด้วยเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในโครงการนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ขึ้นอีกทั้งทรงตระหนักว่าผู้คนในประเทศ ไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ และน้ำจะสมบูรณ์ก็ต้องมีป่าที่สมบูรณ์ด้วย ดั่งพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ... พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า เป็นประดุจสิ่งยืนยันในพระราชปณิธานที่จะอนุรักษ์ป่าและน้ำไม่ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่น ดินไทย"


          พระองค์ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจากการรวบรวมของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการประสานการดำเนินงานสนองพระราชดำริในโครงการอันเนื่องมาจากพระราดำริให้บรรลุผลตามพระราชประสงค์


          โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและการประสานงานเพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ


          ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่อยู่ในการประสานงานของสำนัก งาน กปร. มากกว่า 891 โครงการ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ทั้งด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ด้านศิลปาชีพ ด้านการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต รวมทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งผลสำเร็จของโครงการดังได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวไทยทุกหัวระแหง ในทุกวันนี้.