เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง อ้อย พืชเศรษฐกิจสำคัญภาคอีสาน



tmp_20150209141221_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 13 ส.ค. 2558

          "อ้อย" เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศตามยุทธศาสตร์สินค้าเป็นพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า  (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย) และเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย และพลังงานทดแทน ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก


          ประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และส่งออกมากเป็น  อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยปริมาณการส่งออกรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2557 เท่ากับ 7,321,575.94 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.56 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ในขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมีมากขึ้น


          ในปีการผลิต 2557/58 ผลผลิตโดยรวมทั่วประเทศเท่ากับ 104.59 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2556/57 เท่ากับ 0.89 ล้านตันอ้อย (ร้อยละ 0.86) โดยเป็นผลผลิตอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 42.94 ของผลผลิตทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2556/57 เท่ากับ 1.30 ล้านตัน (ร้อยละ 2.98) เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพื้นที่

 

         ปลูกข้าวไปเป็นพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือจากมันสำปะหลัง และยางพารา ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (เดือนมีนาคม 2558) พบว่ามีโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสิ้นจำนวน 19 โรงงาน


          โดยตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีมากที่สุด รวม 4 โรงงาน ซึ่งยังไม่รวมถึงโรงงานน้ำตาลทรายขนาดเล็กซึ่งผลิตน้ำตาลทรายแดง และโรงงานที่อยู่ในขั้นตอนของการขออนุญาตขยายกำลังการผลิต หรือตั้งโรงงานเพิ่มเติม


          ในปีการผลิต 2557/58 โรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับการจัดสรรปริมาณอ้อยเข้าโรงงานเท่ากับ 46.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.33 ของปริมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2556/57 ตามประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย


          ทั้งนี้ปริมาณอ้อยที่ได้รับการจัดสรรเข้าโรงงานจะเป็นไปตามชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายผลิตในปีนั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลทรายที่กำหนดให้ผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้บริโภคภายในประเทศ และสำหรับการส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่จากข้อมูลรายงานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานทั่วประเทศประจำปีการผลิต 2557/58 (ฉบับปิดหีบอ้อย) พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากับ 47.37 ล้านตันอ้อย คิดเป็นร้อยละ 44.70 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.50 ของปีการผลิต 2556/57 ซึ่งมีปริมาณมากกว่าปริมาณอ้อยที่ได้รับการจัดสรรตามประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย


          โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้โดยเฉลี่ย 112.29 กิโลกรัม/ตันอ้อย ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทราย ของปีการผลิต 2557/58 เท่ากับ 5,318,966.88 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 ของปีการผลิต 2556/57 คิดเป็นน้ำตาลทรายขาวร้อยละ 27.44 และน้ำตาลทรายดิบร้อยละ 71.39 ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายทั้งหมด


          นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าในปี 2557 ได้มีการขยายพื้นที่การผลิตอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 3,780,963 ไร่ เป็น 4,018,989 ไร่ ในปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.30 ในขณะที่เมื่อพิจารณาผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว พบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2558 เท่ากับ 11,175 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 3.12) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของผลผลิตทั่วประเทศที่เท่ากับ 11,240 กิโลกรัมต่อไร่


          ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึง by-product จากการผลิตน้ำตาลทราย ได้แก่ กากน้ำตาล (Molasses) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอล ทั้งเพื่อการบริโภคและใช้เป็นพลังงานทดแทน และถึงแม้ว่าเกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวทั้งในรูปแบบของเกษตรกรอิสระ และ Contract Farming เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ตามแต่การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอาจจะทำได้ไม่เต็มที่นัก


          เนื่องจากเกษตรกรยังคงมีตัวเลือกอื่นซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการวางแผนและจัดโซนนิ่งการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และส่งเสริมความรู้ในการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว อ้อยที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน การผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป.