เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง เติมเต็มแหล่งเหยี่ยวแดงอ่าวไทยดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ป่าชายเลน



tmp_20150209134217_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 1 ส.ค. 2558

          "แลปู ดูปลา ปลูกต้นกล้าป่าชายเลน" เป็นกิจกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้นเพื่อ เฉลิมพระเกียรติ  60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ลุ่มน้ำเวฬุ บ้านท่าสอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี เมื่อวันก่อน


          โดยมีประชาชน จิตอาสาจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ   เดินทางเข้าร่วมกิจกรรม ด้วยการปลูกป่าชายเลนแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเลที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ถิ่นอาศัยและหากินของเหยี่ยวแดง สัตว์ปีกดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลน


          ด้วยนกเหยี่ยวแดงเป็น นกนักล่าขนาดกลาง ที่ปัจจุบันสามารถพบได้ในทวีปอินเดียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจังหวัดจันทบุรี เท่านั้น ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 51 ซม. ตัวผู้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 48 ซม. รูปร่างล่ำสัน คอค่อนข้างสั้น ดวงตากลมโต จะงอยปากสีเทา ปากบนเป็นของุ้มแหลมคมสำหรับฉีกเหยื่อ ปลายหางค่อนข้างมน ขาสีเหลืองกรงเล็บเท้าแหลมคมแข็งแรงสำหรับการจับเหยื่อ


          ลักษณะเด่นของเหยี่ยวแดงคือลำตัวมีขนสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีขนบริเวณหัว คอ และอกซึ่งเป็นสีขาวมีลายสีดำริ้วเล็กๆ แซมอยู่ทั่วไป  เป็นนกประจำถิ่นซึ่งในอดีตสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย


          ส่วนในประเทศไทยพบหากินอยู่ในบริเวณที่ราบทุ่งนา ริมแม่น้ำ ป่าโปร่ง ปากอ่าว ชายฝั่งทะเล เกาะเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบอยู่ใกล้หมู่บ้านติดแม่น้ำใหญ่ เช่นที่หมู่บ้านเลนตัก บริเวณปากน้ำเวฬุ จังหวัดจันท บุรี เป็นต้น


          ขณะล่าเหยื่อเหยี่ยวแดงจะบินวนบนท้องฟ้า แล้วทิ้งตัวลงมาใช้กรงเล็บจับเหยื่อขึ้นไปกินบนยอดไม้สูง อาหารได้แก่ กบ เขียด งู ปู สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก หรือลูกเป็ด ลูกไก่ รวมทั้งซากสัตว์  เหยี่ยวแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน โดยทำรังบนต้นไม้ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่นานประมาณ 30 วัน  สถานภาพปัจจุบันของเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535


          การที่เหยี่ยวแดงมีปริมาณมาก ณ ปากน้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี นั้น ย่อมที่จะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ยังมาซึ่งปริมาณสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะป่าชายเลนจำนวนมาก นกชนิดนี้จึงเข้ามาอยู่อาศัยหากิน และขยายพันธุ์


          ที่สำคัญเมื่อมีการเพื่มพื้นที่ป่าชายเลนให้กับพื้นที่มากขึ้น ก็ย่อมที่จะเอื้อต่อการเจริญเติบโต และมีการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  ซึ่งการลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลนของคณะครั้งนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งของการช่วยเติมเต็มให้กับระบบนิเวศทางธรรมชาติของป่าชายเลนแนวชายฝั่งของประเทศไทย.