เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง เส้นทางยางพาราก้าวสู่ความยั่งยืน



tmp_20150209113534_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 2 มิ.ย. 2558

          แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลกก็ตาม แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 86 ยังต้องส่งออกพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ใช้เองภายในประเทศเพียงประมาณร้อยละ 14 ของปริมาณยางทั้งหมดเท่านั้น


          ทำให้ถูกประเทศผู้นำเข้ากำหนดราคาซื้อขายยางโดยปริยาย หากช่วงไหนเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว หรือมีความต้องการใช้ยางลดลง ราคายางในประเทศไทยก็จะตกต่ำทันที ดังนั้น หากจะให้ราคายางมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


          นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขายยางของเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังอยู่ในรูปน้ำยางข้น ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ทำให้ราคาต่ำ สกย. พยายามที่จะส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคล เพื่อที่จะแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ทำยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น


          และหากต้องการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ จะต้องส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น เช่นอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เช่น ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยานยนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่น ๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำยางไปใช้มากที่สุดกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการใช้ยางในประเทศ ก็จะทำให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วย


          นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมยางยืดและยางรัดของอุตสาหกรรมผลิตถุง มือยางทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือตรวจโรค หรือถุงมือผ่าตัด อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา อุตสาหกรรมผลิตสายพานลำเลียง เพื่อใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ อุตสาหกรรมผลิตสื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นโมเดลร่างกายมนุษย์ สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าเช่นกัน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม เช่น ยางรองคอสะพาน แผ่นยาง กันน้ำซึม ยางกันชน หรือกันกระแทก ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต บล็อกยางปูพื้น แผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ ฝายยาง แผ่นยางปูพื้น เป็นต้น


          และอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศก็คือ การใช้ยางพาราผสมยางมะตอย สำหรับทำผิวถนน ซึ่งจากงานวิจัยและการทดลอง พบว่าถนนที่ใช้ยางพาราผสมยางมะตอย ในอัตราร้อยละ 5 มีความแข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา แม้ต้นทุนการทำถนนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยก็ตาม นอกจากนี้ ความปลอดภัยยังสูงกว่า เพราะลดการลื่นไถลของรถยนต์ได้ดีกว่าอีกด้วย


          "หากภาครัฐ โดยเฉพาะกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีการแก้ไขกฎระเบียบให้มีการนำยางพารามาผสมยางมะตอย ในการสร้างถนนทุกสายในประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศได้ทันที แม้ต้นทุนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยทั่วไปก็ตาม แต่มีความแข็งแรง ทนทานกว่าถึง 2 เท่า ในขณะที่ต้นทุนแพงกว่า 5% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ได้ลงนามความร่วมมือที่จะใช้ยางพาราผสมราดถนนเป็นการนำร่องแล้ว หากหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการเช่นนี้ด้วยจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ซึ่งจะกระตุ้นให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย"รักษาการผู้อำนวยการ สกย. กล่าว


          ประโยชน์ของยางพารา ไม่ใช่อยู่ที่น้ำยางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากมีการส่งเสริมและสนับสนุนการนำไม้ยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็จะเพิ่มคุณค่าให้กับยางพาราอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะต้นยางพาราที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งจะให้ผลผลิตน้ำยางต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรควรจะโค่นทิ้ง โดยขอรับทุนสงเคราะห์การปลูกใหม่ทดแทนยางเก่าจาก สกย.ได้ ส่วนต้นยางที่โค่นทิ้งก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มคุณค่าได้มากมายเช่นกัน


          ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากไม้ยาง พาราที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่การนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงอบยางแผ่นรมควัน ไปจนถึงการแปรรูปไม้เพื่อใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น เครื่องใช้ทำด้วยไม้ กรอบรูปไม้ รูปแกะสลัก เครื่องประดับทำด้วยไม้ วัสดุก่อสร้างทำด้วยไม้ ไม้ปาร์เกต์ ไม้พื้น ไม้เสา นั่งร้าน ไม้ค้ำยัน ไม้แผ่น ไม้สำหรับม้วนสายไฟฟ้า ลังไม้ เป็นต้น


          รวมทั้งยังมีการแปรรูปไม้ยางที่ใช้เทคโน โลยีที่สูงขึ้น เพื่อการนำมาผลิตเป็นของเล่นประเทืองปัญญา และใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอีกด้วย.