เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง โรคคนรุ่นใหม่โนโมโฟเบียขาดมือถือไม่ได้จะเป็นจะตาย



tmp_20153108095338_1.jpg


          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชน ใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน บางรายใช้มากจนก่อให้เกิดอาการใหม่ทางสุขภาพจิตที่เรียกว่า "โนโมโฟเบีย (nomophobia)" มาจากคำว่า โนโมบายโฟนโฟเบีย (no mobile phone phobia) หรืออาการขาดมือถือ ไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล สามารถพบได้ทั่วโลก

          โดยข้อสังเกตของผู้มีอาการโนโมโฟเบีย คือมักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่ได้อยู่กับตัว หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ/ข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงานเพื่อเช็กข้อความในมือถือทันที เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะที่ทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถหรือนั่งรถ ไม่เคย ปิดมือถือ ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า ลักษณะเดียวกับผู้ที่มีมือถือแต่ใช้การไม่ได้จากอยู่ในที่ไม่มีสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย บางรายหากเป็นมาก อาจเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ได้

          พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจ ส่งผลทางด้านสุขภาพ โดยเกิดอาการข้างเคียง เช่น นิ้วล็อก สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็ง และปวดเมื่อยซึ่งมาจากการก้มหน้าเพ่งมองจอเป็นระยะเวลา นานและทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร นอกจากนี้อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอถูกกดทับ จนเกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม และอาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ

          พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคนี้ จะต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ควรใช้เท่าที่จำเป็น โดยหันไปทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกเหงาให้หาเพื่อนคุยแทนการสนทนาผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ หรืออาจตั้งกฎว่า จะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาห่างมือถือให้มากขึ้น หรือกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ

          ทั้งนี้ ผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า คนที่เกิดอาการโนโมโฟเบีย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงาน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกม ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงส่งข้อมูลผ่านมือถือถึงกันบ่อยๆ สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิตอลในปี 2557 พบว่ามีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 94.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 5.4 ล้านเครื่อง

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : มติชน ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2558