เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง นิวโรบิค...การบริหารสมองสู้อัลไซเมอร์



tmp_20153108094927_1.gif


          คนไทยเป็นโรคนี้อยู่ราว 6 แสนราย หลายคนอาจกำลังหวาดผวากับการเพิ่มสถิติของโรค ด้วยมโนภาพว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งในนั้น วันหน้าอนาคตจะแผ้วพานปลอดรอดพ้นไปได้ไหม

          หลายคนเริ่มขี้ลืม เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าแก่...กุญแจรถหายประจำ...กระเป๋าสตางค์วางไว้ไหนก็ไม่รู้...จะอ่านหนังสือ หาแว่นตาไม่เจอ

          ขี้ลืมกับหลงลืม...เป็นคนละโรค ใครที่ชอบลืมกุญแจรถ ลืมกระเป๋าสตางค์ ไม่ต้องตกอกตกใจไป เป็นโรคธรรมดาสามัญที่มนุษย์ทุกคนต้องเป็น ไม่มีใครไม่เคยลืมอะไร โรคนี้รักษาหายด้วยการจัดระบบให้ตัวเองทำอะไรให้เป็นระเบียบ เคยวางอะไรไว้ไหนก็ให้วางไว้ตรงนั้นทุกวัน โรคนี้หายขาด ไม่ต้องกินยาขนานใด เป็นโรคสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง...แต่โรคหลงลืม... หรืออัลไซเมอร์ หากพูดถึงโรคนี้เป็นที่เข้าใจ คือ โรคที่ลืมทุกอย่าง

          ลืมตั้งแต่คนที่อยู่ในบ้านด้วยกัน...ลูกของตัวเองแท้ๆ ก็จำไม่ได้ เรื่องที่เคยทำได้ วันนี้ทำไม่ได้แล้ว เรื่องที่เคยจำได้ ก็จำไม่ได้ จำลูกตัวเองไม่ได้ นี่ก็แย่แล้ว...ร้ายแรงถึงขั้นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชื่ออะไร...เป็นโรคที่หน่วยความจำของสมองลบข้อมูลทั้งหมดทิ้ง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้ลืมกุญแจรถ หรือกระเป๋าสตางค์ นึกได้แล้วพยายามหา...อะไรที่พ้นจากสายตาแล้ว ไม่อยู่ในความสนใจหรือความทรงจำอีกต่อไป

          คนแก่หายออกนอกบ้าน...ลูกหลานตามหากันวุ่นวาย นี่คือการหลงทิศ...ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นกันทุกราย จำทิศจำทางไม่ได้ หากตา-ยายของใคร เป็นโรคนี้ ประตูบ้านต้องลั่นดานให้แน่ใจว่า ปัญหานี้จะไม่เกิด คนป่วยจะไม่สามารถเปิดประตูออกจากบ้านไปได้

          อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ตามลำพัง เพราะไม่อาจแน่ใจได้ว่าผู้ป่วยจะไม่ทำอะไรแผลงๆ ทำอะไรที่อาจเป็นอันตรายได้

          ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะกลับไปสู่พฤติกรรมกลายเป็นเด็ก...เด็กมากๆ...จนพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ทั้งไม่รับรู้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป จะเล่นเหมือนเด็ก หรืออาจยิ่งกว่าเด็ก...เพื่อนบ้านผมมีแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์...กระดาษทิชชูเป็นของเล่นโปรด เจอเมื่อไรจะนั่งฉีกจนหมดม้วนหมดห่อ บ้านนี้ขายอุปกรณ์ตัดเย็บ วันไหนเผลอแม่จะเอากระดุมมานั่งนับ เทออกมาจากกล่อง แล้วนับกลับเข้าไป... เทไป นับมา...สุดท้ายนำไปทิ้งลงถังขยะ

          โรคหลงลืมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคไม่มีเชื้อ จึงหวังผลจากการใช้ยาไม่ได้...ด้วยโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมผู้ป่วยเอง

          ปู่-ย่า ตา-ยายบ้านไหน ต้องเผชิญวิบากกรรมดังกล่าว ต้นสายปลายเหตุมักมาจากการปล่อยตัวเองให้ว่างไปวันๆ...หมายถึงลูกหลาน อยากเลี้ยงคนแก่ให้สบาย ไม่อยากให้ทำอะไร...เพราะที่ผ่านมาลำบากมาก ควรอยู่นิ่งๆ ได้แล้ว

          การที่ให้ผู้สูงวัยอยู่นิ่ง อยู่สบาย กลายเป็นหายนะของสุขภาพ...คนเรานั้น...ทุกวันต้องเรียนรู้ ต้องมีอะไรทำ การอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวน้อย ประการแรก ร่างกายย่อมเสื่อมโทรม โรคภัยจะเบียดเบียนเร็วขึ้น เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันฯ และโรคอื่นๆ...รวมถึงโรคทางสมองอย่างอัลไซเมอร์ด้วย

          สมองคนเรานั้นหยุดไม่ได้เช่นเดียวกับร่างกาย ที่ต้องมีการสร้างเสริมให้มีความแข็งแรงตลอดเวลา เมื่อผู้สูงวัยหยุดการเรียนรู้ เมื่อนั้นสภาวะสมองจะเริ่มฝ่อลงไปเรื่อยๆ การเรียนรู้จึงมีความหมายต่อผู้สูงวัยอย่างยิ่ง...เมื่อร่างกายต้องการการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง สมองก็ต้องการความแข็งแรงเพื่อให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

          ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งข้อมูลด้านการป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคหลงลืมมาให้ มีความรู้ใหม่ที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยลดความเสี่ยงของโรคนี้ ณ ปัจจุบันในต่างประเทศ ได้ใช้โปรแกรม...นิวโรบิค เอ็กเซอร์ไซส์ ในเชิงป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ขณะนี้ทางเราก็นำวิธีการนี้มาใช้แล้ว

          เป็นโปรแกรมการฝึกสมองที่เกี่ยวข้องกับประสาทรับรู้ทั้ง 5 คือ...การเห็น การสัมผัส การได้ยิน การได้กลิ่น และการลิ้มรส รวมถึงการรับรู้ในส่วนที่ 6 คืออารมณ์ให้สามารถเชื่อมโยงกัน โดยผู้สูงวัย ต้องรู้จักกับกิจกรรมใหม่ๆ บ้าง เช่นมาเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บ้าง...ดนตรีไทย...หัดวาดภาพ...ปลูกต้นไม้...อย่างนี้เป็นต้น

          การมาทำความรู้จักกับกิจกรรมใหม่ๆ สมองจะมีพัฒนาการดีขึ้น...ดังจะพบว่าผู้สูงวัยไม่น้อย ที่ใช้เทคโนโลยีเป็น จะเป็นผู้ที่มีความสุข ง่ายที่สุด...การใช้ไลน์ของผู้สูงวัยในการติดต่อสื่อสาร ท่องโลก ออนไลน์ สมองของผู้สูงวัย มีการถูกใช้งานตลอดเวลา หรือจะเรียกว่าเป็นการฝึกฝน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม...สมองมันก็จะหลั่งสาร "นิวโรโทฟิน" ออกมาเพื่อปกป้องเซลล์สมอง ทั้งยังทำให้ เซลล์สมองแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น

          สมองในผู้สูงวัย ก็จะยังคงเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ  นอกจากต้องฝึกฝนในโปรแกรมนิวโรบิค เอ็กเซอร์ไซส์แล้ว ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ยังแนะนำให้ ผู้สูงวัย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อ...

          1.กระตุ้นหัวใจ โดยการเดินเร็ว และฝึกการทรงตัว ด้วยการเล่นกายบริหาร เพิ่มความแข็งแรงของ

          กล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นการออกำลังกายแบบแอโรบิกทั่วไปนั่นเอง

          2.ควรรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารสีรุ้ง ซึ่งหมายถึง รับประทานผัก-ผลไม้หลากสี เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและสมอง อาทิ ผัก-ผลไม้ สีคราม สีน้ำเงิน สีม่วง...เป็นต้น ซึ่งผัก-ผลไม้เหล่านี้จะได้จาก องุ่นม่วง บีทรูท หอมแดง บลูเบอร์รี่ แอปเปิ้ลเขียว กีวี มะม่วงสุก ส้ม แครอท แตงโม พริกแดง มะเขือเทศ

          3.ดูแลด้านสุขภาพจิต ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า หากเกิดอาการเหล่านี้ ต้องมีวิธีการจัดการ 4.ควรมีกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง 5.ดูแลสุขภาพกายให้ดี ด้วยผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันฯ โรคดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์

          ในวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน ศกนี้ จะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ในหัวข้อ "สร้างสรรค์สังคมไทย ให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ โดยมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์เป็นเจ้าภาพ งานครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ตามรูปแบบของโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยมีการแบ่งกิจกรรมย่อย เป็นห้องเรียนต่างๆ จำนวน 5 ห้องเรียน ได้แก่ห้องเรียนพลศึกษา วิทยาศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ ดนตรีศึกษา และวิชาสันทนาการ

          ทั้งยังมีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องของโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงวิธีการป้องกันต่างๆ รวมถึงวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์...งานนี้เริ่มตั้งแต่เช้า 08.00-17.00 น. ที่โรงแรมตะวันนา ถ.สุรวงศ์

          กิจกรรมดังกล่าว เปิดรับเฉพาะผู้สูงอายุวัย 60-75 ปี โดยต้องเป็นผู้สูงวัย ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง และมิได้เป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์...ขอย้ำว่ารับจำนวนจำกัด ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2644-5499 ต่อ 138 และ 139 หรือที่ www.alz.or.th

          งานอย่างนี้ไม่มีบ่อยนัก และแนวทางการรักษาโรคมิได้ใช้ยา ทั้งเป็นกระบวนการเชิงรุกด้านสาธารณะสุข นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ใครไม่อยากเป็นโรคหลงลืม ก็อย่าลืมรีบโทร.ไปจองที่ด่วน... คนป่วยไม่ต้องไปนะ เพราะคงเรียนอะไรไม่รู้เรื่อง...หมอใบไม้...08-5151-8844

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง