เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง  ปูนาประโยชน์มากถึงเวลาส่งเสริมเลี้ยงเชิงพาณิชย์



tmp_20152808105003_1.jpg


Source - เดลินิวส์ 7 ม.ค. 2558

          ปูนาจัดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกและหาได้ง่ายในธรรมชาติ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่เกษตรกรทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เพราะปูนาเป็นทั้งอาหารคน สัตว์ และพืช


          ปูนาชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามทุ่งนา คันนา บริเวณชายคลอง คันคู และคันคลอง  โดยมีแหล่งอาหารและน้ำเป็นปัจจัยหลัก  เมื่อเข้าฤดูฝน ปูจะออกจากรูเพื่อหาอาหารตามแหล่งน้ำ และผสมพันธุ์ โดยจะวางไข่ปีละครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม โดยมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ปูเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูสูงจากระดับน้ำ เพื่อเตรียมอุ้มไข่ และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว


          ปูนากินอาหารทุกชนิด ตั้งแต่สารอินทรีย์ในดินจนกระทั้งพืชหรือสัตว์ที่มีชีวิตและตายแล้ว มีบทบาทสำคัญและมีส่วนช่วยทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมบูรณ์ เพราะมีระบบย่อยอาหารที่สามารถดูดซึมสารอินทรีย์จากดินได้ จึงกินดินที่มีสารอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยได้โดยตรง ปูนาส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน มีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่น ๆ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง และโตเป็นปูเต็มวัย โดยใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน


          เป็นสัตว์ที่มีรสชาติดี มีเอกลักษณ์ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกที่หาจากธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อได้ สามารถทำอาหารได้หลายชนิด เป็นสัตว์ที่มีไคตินที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานได้เช่นเดียวกับเปลือกกุ้ง เปลือกปูม้าและเปลือกปูทะเล โดยปูนาหนึ่งตัวจะมีปริมาณไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 ในสภาพน้ำหนักแห้ง ในขณะที่ปูทะเลมีเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น


          ไคโตซานที่ได้จากเปลือกกุ้งและปูนั้นมีการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เช่นในวงการอุตสาหกรรม จะนำไปใช้ในขบวนการบำบัดน้ำเสียในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ที่มีปริมาณอินทรียสารที่มีโลหะหนักพวก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม เหล็ก และแคดเมียม ในน้ำทิ้ง ทางด้านโภชนาการ มีการนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของอาหารเสริมเพื่อลดปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอล บำรุงกระดูก นำไปใช้ในการตกตะกอนของไวน์ขาว ไวน์แดง ทำเป็นฟิล์มสำหรับเคลือบอาหารและผลไม้ ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียและยืดอายุในการเก็บให้ยาวนานขึ้น ใช้เป็นสารปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลต่าง ๆ ให้มีกลิ่นกุ้ง หรือปู เช่น ผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสชนิดต่าง ๆ


          มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟัน แป้งฝุ่น โลชั่นบำรุงผิว บำรุงผม นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และนำไปผสมอาหารสำหรับสัตว์ปีก เช่น กุ้ง ปู และปลา เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงโตเร็ว แข็งแรง มีความต้านทานโรค ในการปลูกพืชมีการนำไปใช้เพื่อกำจัดเชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคโคนเน่าในพืชตระกูลถั่ว ช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดผักและการเจริญเติบโตของกล้วยไม้อีกด้วย


          แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการได้มาซึ่งปูนาจะมาจากธรรมชาติเป็นสำคัญ ยังไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงอย่างจริงจังแบบครบวงจรเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปโอกาสที่ปูนาในธรรมชาติหมดไปอาจจะเกิดขึ้นได้ในแผ่นดินไทย.