เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ข้าวโพดเทียนสุโขทัย 1 เหมาะปลูกหลังนา



tmp_20152808103804_1.png


Source - เดลินิวส์ 5 ม.ค. 2558

          ข้าวโพดเทียนเป็นข้าวโพดฝักสดที่ได้รับความนิยมบริโภคมากชนิดหนึ่งในปัจจุบัน พันธุ์ที่เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เก็บเมล็ดพันธุ์เองและใช้ปลูกต่อเนื่องมาเป็นเวลานานทำให้ลักษณะต่าง ๆ มีความแปรปรวนสูง ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ต่อมาจึงมีการปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะทางการเกษตรดี ผลผลิตสูง และคุณภาพดี ให้เกษตรกรปลูกเพื่อเสริมรายได้


          จากการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเทียนแปลงปลูกสาธิตพันธุ์ T-033 ซึ่งรวบรวมจากจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2526 ซึ่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ ในฤดูฝนปี 2531 ที่สถานีทดลองพืชไร่ศรี สำโรง จังหวัดสุโขทัย โดยปลูกและคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี ทำการผสมตัวเอง 1 ครั้ง นำฝักที่ได้มาปลูกผสมข้ามกันอย่างอิสระ และทำการคัดเลือกหมู่ประยุกต์ เพื่อเพิ่มความสม่ำเสมอของลักษณะต่าง ๆ เช่น ความสูงต้น ความสูงของตำแหน่งฝัก  ขนาดฝัก และฝักที่มีเมล็ดสีขาว


          จากนั้นปลูกทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรในฤดูแล้งปี 2539 จำนวน 2 แปลง  ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ในต้นฤดูฝน ปี 2539 ทำการเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวโพดเทียน พันธุ์ข้าวโพดเทียนพันธุ์สุโขทัย 1 ร่วมกับพันธุ์ พื้นเมือง รวม 3 การทดลอง คือ ปลูกเปรียบเทียบมาตรฐาน จำนวน 7 แปลงทดลอง ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ขอนแก่น  เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ปลูกเปรียบเทียบในท้องถิ่น จำนวน 7 แปลงทดลองที่ศูนย์วิจัย พืชไร่ชัยนาท อุบลราชธานี สถานีทดลอง พืชไร่บ้านใหม่สำโรง เพชรบูรณ์ ไร่เกษตรกรจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และแพร่ ปลูกทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร จำนวน 5 แปลงทดลอง โดยปลูกที่ไร่เกษตรกรจังหวัดมุกดา หาร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย และพะเยา ผลปรากฏว่าให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง คือเหลืองอุทัยธานี เหลืองพิษณุโลก และชาวเชียงใหม่


          จำนวนฝักทั้งหมด 22,128 ฝักต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง 30 29 และ 17 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จำนวนฝักที่ได้มาตรฐาน 16,316 ฝักต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง 43 36 และ 31 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ น้ำหนักฝักทั้งเปลือกของฝักทั้งหมด 1,435 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง 34  29  และ 7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีคุณภาพในการบริโภคดีกว่าพันธุ์พื้นเมือง คือมีรสชาติหวานเล็กน้อย ความนุ่มเหนียวดี ไม่ติดฟันและมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน


          สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ เพราะมีการปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และให้ผลผลิตสูง มีรสชาติดีกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมใช้ปลูกกัน ในทุกสภาพท้องที่ที่ทำการทดลอง มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตที่ดี  โดยจะให้ผลผลิตที่สูงขึ้น ถ้าปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดี ต้นจะสูงประมาณ 147 เซนติเมตร ความสูงฝัก 75 เซนติเมตร อายุถึงวันดอกตัวผู้บาน  50 เปอร์เซ็นต์ 43-45 วัน วันออกไหม 50 เปอร์เซ็นต์ 44-46 วัน อายุเก็บเกี่ยวฝักสด 56-65 วัน จำนวนฝัก 1-2 ฝักต่อต้น ผลผลิตฝักมาตรฐาน  16,316 ฝักต่อไร่ ผลผลิตทั้งหมด 22,128 ฝักต่อไร่


          เป็นข้าวโพดที่มีความสม่ำเสมอของขนาดฝักต่อไร่   ความอ่อนนุ่มและความหอมหวาน  รวมทั้งการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าพันธุ์ข้าวโพดเทียนพันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ ศูนย์ศึกษาการ พัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ที่นั่นมีแปลงสาธิต โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.