เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง กรมป่าไม้ชู "ยายลา" ต้นฉบับวิถีชีวิตคน-ป่า-พึ่งพากัน



tmp_20151908134244_1.jpg


          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2558          

          ความว่า "ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา รวมกันเข้าคือทรัพย์สินแผ่นดินแม่ ฝากลูกไทยรวมใจภักดิ์รักดูแล เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล"

          โดยก่อนหน้านี้ พระองค์เคยมีพระราชเสาวนีย์ ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลป่าไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในป่า อย่าไปไล่เขาออกมา ให้เขาอยู่ไป เขาจะได้ช่วยดูแลรักษาป่าด้วย

          วิถีของ "ยายลา" ดูเหมือนจะเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพา และดูแลกันและกันระหว่างคนและป่าจริงๆ..

          กว่า 2 ชั่วโมง ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยพยัคฆ์ไพร นำโดย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวย การส่วนกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าหน่วยพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และ เผด็จ ลายทอง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนัก บริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 2 (ศรีราชา) นำทีมข่าว "มติชน" เข้าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทุ่งบ้านนา ป่าทุ่งควายกิน อยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.จันทบุรี

          จากถนนลาดยางเข้าสู่เส้นทางเล็กๆ เข้าไปในป่าลึกสมบุกสมบันพอสมควร ก่อนจะเข้าไปถึงบ้านตาบุญรวมกับยายลา เกตุจันทร์ 2 ตายายที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มากว่า 40 ปี

          40 ปีก่อน 2 คนผัวเมียใช้พื้นที่บริเวณนี้สร้างกระท่อม ทำสวน และปลูกผัก หาปลา เลี้ยงชีวิต กระทั่งกรมป่าไม้เข้ามาประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งบ้านนา ป่าทุ่งควายกิน และกรมอุทยานแห่งชาติฯประกาศเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

          40 ปีผ่านไป ตาบุญรวมกับยายลา มีลูก 2 คน และหลานอีก 1 คน มีกระท่อมเล็กๆ เพิ่มมาอีกหลังหนึ่ง แต่พื้นที่ทำมาหากินสวนยาง และสวนครัวเล็กๆ ของแกยังอยู่เท่าเดิม ไม่ได้ขยายอาณาเขตออกไปไหน ทุกวันนี้ ลูกกับหลานออกไปอยู่ข้างนอกป่าหมดแล้ว แต่ 2 ตายายยังอยู่ที่เดิม ยายลาเป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัว เพราะเวลานี้ตาบุญรวมป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ไม่สามารถขยับตัวไปไหน ได้แต่นอนนิ่งๆ อยู่กับที่ แต่ยายลายังคงเก็บผัก เก็บหอย หาปลาตามริมลำธารมากินตามปกติ เหลือจากกินก็เอาไปขาย ตอนนี้ตาไม่สบาย ยายเลยต้องขยันเดินขึ้นเขา เข้าไปหาลูกหวายสุกออกมาขายในตลาด คนในตลาดรับซื้อลูกหวายของแกกิโลกรัมละ 200 บาท เก็บลูกหวายสุกออกไปขายอาทิตย์ละครั้ง วันไหนไม่เหนื่อยนักก็ขุดหน่อไม้มาดองเก็บไว้กิน หรือไม่ก็เก็บผักกูดมามัดขายได้คราวละ 10 มัด ขายมัดละ 5 บาท เก็บเงินเอาไว้เป็นค่ารถพาตาไปหาหมอ

          "เมื่อก่อนตอนตายังสบายดีอยู่ก็ไม่ได้เหนื่อยขนาดนี้ ก็ช่วยกันเก็บช่วยกันหา ไม่ได้ลำบากอะไร ถึงตอนนี้ทำอยู่คนเดียว ไม่ได้ลำบากอะไรหรอก แต่เหนื่อยนิดนึง" ยายบอกพร้อมปาดเหงื่อ ที่ไหลลงมาบนแก้มเหี่ยวๆ

          หัวหน้าหน่วยพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ บอกว่า กรณีของยายลาถือเป็นแบบฉบับชัดเจนเรื่องคนกับป่ามีวิถีชีวิตที่ผูกพันพึ่งพากันมาจริงๆ และอยู่กันมาตามแนวทางวิถีชีวิตที่พอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจริงๆ

          "ตากับยายทั้งสองอยู่มาตั้งแต่ก่อนที่กรมป่าไม้จะเข้าไปประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ก่อนปี 2536 มีกระท่อมเล็กๆ กันฝนกันลม แม้จะเป็นครอบครัวขยาย คือ เมื่อมีลูกก็มีกระท่อมเล็กๆ อีกหลัง แต่พวกแกขยายพื้นที่ไม่มาก ปลูกสวนยาง เอาไว้ตัดขี้ยางขายแค่ 2-3 ไร่ อยู่ข้างบ้าน ตื่นเช้ามาเข้าไปหาผัก ขุดหน่อไม้ งมหอย เก็บลูกหวาย แกจะมีวิธีการหา เช่น ผักเก็บจากริมลำธาร ซึ่งลำธารก็จะมาจากป่าต้นน้ำ เก็บลูกหวายก็จะเลือกเก็บแต่ลูกหวายสุก ที่ไม่สุกก็จะไม่เก็บ รวมทั้งบางครั้งก็จะปล่อยให้ลูกหวายสุกๆ ร่วงลงพื้นบ้างเพื่อให้มันงอกขึ้นมาใหม่ คือ เก็บเอาเฉพาะผลกำไรจากป่ามาใช้ เก็บต้นทุนเอาไว้ เป็นการเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตตามวิถีของแก ที่คนข้างนอกป่าอย่างเราเรียกว่า วิธีการจัดการ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ หรือเรียกว่าวิถีของแก"

          ชีวะภาพบอกว่า พื้นที่ที่ยายลาอยู่นั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ ที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นพื้นที่พิเศษที่อนุญาตให้คนที่อยู่มาก่อนประกาศอาศัยทำมาหากินอยู่ได้ แต่หากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์จริงๆ เช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตามยังมีคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าแบบวิถีของคนป่าจริงๆ อย่างยายลาอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอีกมาก คนที่เห็นว่าป่าคือส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขาจริงๆ หากไม่มีป่า หรือว่าพื้นที่ป่าเกิดเสื่อม โทรม ถูกทำลายไปแล้ว พวกเขาจะอยู่ไม่ได้อีก ต่อไป

          "กรณีของยายลานั้น หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา แกเห็นคนพยายามเข้ามาเผาป่า แกกับ ตาและลูกๆ เข้าไปช่วยกันดับ เหตุผลคือ ถ้ามีไฟป่าเกิดขึ้น แกจะไม่ได้เก็บลูกหวายไปขายอีก แกจะเก็บผักหน้าดินริมลำธารไม่ได้อีก ดังนั้น จึงต้องดูแลในที่ที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารของแกให้ดีที่สุด"

          "วิถีชีวิตของยายลานั้นต่างกับคนอีกพวกหนึ่ง" ชีวะภาพบอก

          พวกที่ว่าคือ กลุ่มที่อ้างว่ารักป่า อยากอยู่ใกล้ชิดกับป่าเข้าไปครอบครองพื้นที่ป่าพยายามหาที่ที่วิวสวยใกล้ชิดธรรมชาติ เข้าไปสร้างบ้านพัก รีสอร์ต เพื่อให้ได้อยู่กับป่า 1 ปี ได้ไปใกล้ชิดป่า 2-3 ครั้ง แต่กว่าจะเป็นบ้านพักและรีสอร์ตได้ ต้องทำลายพื้นที่ป่าไปเท่าไร เพื่อให้บางคนได้เสพแค่วิว ทิวทัศน์ป่าเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอ้างว่าบ้านป่าอยู่ป่า แต่ขยายพื้นที่ ขยายอาณาเขตการทำมาหากินออกไปเรื่อยๆ จนพื้นที่ที่เคยเป็นป่ากลายเป็นสวน กลายเป็นอาณาเขตส่วนตัว มีความเจริญมีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปแทนที่ป่ามากมายสารพัด พื้นที่ป่าก็หดหายไปเรื่อยๆ

          ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า พวกเรามักจะเห็นคนที่อาศัยใกล้ป่า จะค่อยๆ ขยายพื้นที่ทำกินของตัวเองบุกรุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ ทำมาหากินอยู่ระยะหนึ่งก็ขายที่ต่อให้นายทุนแล้วไปบุกรุกป่าใหม่ วนเวียนอยู่แบบนี้ไปตลอด แต่เรื่องของยายลาเป็นกรณีตัวอย่างที่มีวิถีชีวิตที่พอเพียง อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ากันชนของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มาเป็นเวลานาน และทำมาหากินภายใต้แนวพระราชดำริคนอยู่กับป่า ไม่ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม ไม่รบกวนป่าและสัตว์ป่า รวมทั้งยังปรับชีวิตอยู่ร่วมกับช้างป่าที่มีอยู่หลายฝูงรอบบ้านยายลา โดยคนอยู่กับป่ามีหลากหลายรูปแบบ อยู่กับป่าที่มีแต่นกและสัตว์ป่าเล็กๆ ต้องอยู่แบบหนึ่ง ถ้ามีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้างป่าและเสือก็อีกแบบหนึ่ง

          เราจะใช้เป็นกรณีศึกษาและเป็นต้นแบบให้ชุมชนกลุ่มอื่นๆ ให้ดำเนินการตาม เพื่อการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

          "กรมป่าไม้มีแนวทางบริหารจัดการป่ารูปแบบใหม่ตามแนวพระราชดำริ โดยบริหารจัดการในรูปกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ บริหารจัดการป่ากันชนที่ช่วยดูแลป่าอนุรักษ์ที่อยู่ตรงกลาง โดยเน้นร่วมกันดูแลป่าในรูปแบบป่าชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านรอบป่า และการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน หลักการนี้จะทำให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าต้องอยู่ได้ด้วย" ธีรภัทรกล่าว


ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 12 สิงหาคม 2558