เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง โลจิสติกส์กับการเกษตร ข่าวเด่น



tmp_20151805151723_1.jpg


          รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ
          แหล่งที่มา : คมชัดลึก วันทีี่ 4 พฤษภาคม 2558

          โลจิสติกส์ เป็นศัพท์ใหม่ที่คนไทยรู้จักเมื่อไม่นานนัก หลายคนยังเข้าใจว่า โลจิสติกส์เป็นเรื่องของการส่งสินค้า แต่ความจริงแล้วมีความหมายกว้างกว่านั้นมาก เพราะว่าครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ มากกว่าการขนส่งเพียงอย่างเดียว การบริหารจัดการโลจิสติกส์เป็นกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การดำเนินการต่างๆ รวมไปถึงการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ กระจายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นที่พอใจของผู้บริโภคหรือลูกค้า ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยจัดอยู่ในระดับที่สูงมาก

          เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้วต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยจัดอยู่ในระดับที่สูงมาก
          เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้วทุนโลจิสติกส์ของไทยคิดเป็นร้อยละ 17 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี แต่ว่าเมื่อคนไทยให้ความสนใจเรืองของโลจิสติกส์มากขึ้น จึงเกิดการตื่นตัวและหาทางลดต้นทุนด้านนี้ลง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ลดลงเหลือร้อยละ 14.7 และยังตั้งเป้าหมายว่าจะลดลงให้เหลือร้อยละ 12 ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

          โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการเกษตรในทุกๆ ขั้นตอน แต่ว่าการพัฒนางานด้านนี้ค่อนข้างน้อยมาก ทำให้ต้นทุนและความเสียหายของผลผลิตเกิดขึ้นสูงมาก มากกว่าที่ควรจะเป็น อย่างเช่นผลิตผลการเกษตรหลายชนิดอาจเสียหายมากกว่าร้อย 30 ของผลผลิตทั้งหมด ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการโลจิสติกส์ในฟาร์มหรือในไร่นาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความรู้หรือเห็นความสำคัญของโลจิสติกส์ การส่งเสริมเกือบทั้งหมด เน้นที่การเพิ่มผลผลิตมากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ส่วนที่อาจเห็นได้ชัดเจนสำหรับการลงทุนของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ก็คือการสร้างถนนหรือปรับปรุงถนนที่เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตไปยังตลาดค้าส่งหรือผู้ซื้อปลายทางเป็นหลัก

          โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรครอบคลุมตั้งแต่การผลิตในแปลงหรือไปถึงการเพิ่มมูลค่า การขนส่ง จนถึงตลาดหรือมือผู้บริโภค ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นหากเราจัดการเรื่องของปัจจัยการผลิตไม่ดีหรือไม่เหมาะสม มีการสั่งซื้อปุ่ย ยา มาสะสมไว้มากเกินความต้องการ เพราะไม่ได้มีการคำนวณปริมาณความต้องการใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง

          ผลก็คือ ต้องเสียเงินล่วงหน้าไปซื้อปุ๋ยมาเก็บไว้ แล้วยังต้องสร้างห้องหรือโกดังเก็บ เป็นการสิ้นเปลือกโดยใช่เหตุ แต่หากมีการจัดการที่ดีและเป็นระบบแล้วเช่นมีการรวมกลุ่มกันอย่างเหมาะสม อำนาจต่อรองก็สูงขึ้น อาจมีการตกลงกับร้านค้าในการวางแผนเก็บสต๊อกปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีเพียงพอใช้ในกลุ่มสมาชิกในเวลาที่ต้องการ ถ้าสามารถดำเนินการได้เป็นระบบอย่างนี้ ก็จะทำให้ต้นทุนการจัดการลดลงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้วยกันกับทุกฝ่าย

          อีกอย่างหนึ่งก็คือการขายผลผลิต เกษตรกรมักจะทำหน้าที่ในห่วงโซ่การผลิตคือเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับต้นและขายส่งให้พ่อค้านำไปใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ นำไปแปรรูป ไปขายปลีก หรือมีบริหารด้านอื่น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนของการเพิ่มมูลค่าทั้งสิ้น แต่ว่าการเพิ่มมูลค่าเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร กลายเป็นว่าผู้ที่บริหารโลจิสติกส์ส่วนนี้คือพ่อค้า เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างมากโดยอาศัยเพียงแค่การบริหารจัดการ

          ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้ และให้ความสำคัญกับการจัดการโลจิสติกส์ ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการส่วนนี้ก็จะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คำถามมีอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกษตรกรของไทยมีความรู้ความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการจัดการโลจิสติกส์อย่างเหมาะสม--จบ--