เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง มทร.ศรีวิชัย วิจัย "น้ำรกหมู" ช่วยเพิ่มการงอกเมล็ดพันธุ์ข้าว



tmp_20150805140510_1.jpg



​              สภาพอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปีของพื้นที่ภาคใต้...เป็นสภาวะที่ไม่เหมาะต่อการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว เพราะทำให้เสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว แต่เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ฉะนั้น จึงหาวิธีในการทำให้เมล็ดงอกได้สูงขึ้น จนสามารถนำกลับมาทำการเพาะปลูกได้อีกครั้ง...

​              ...จากภูมิปัญญาของผู้ปลูกข้าวบางรายใน จ.นครศรีธรรมราช เชื่อว่า “การใช้น้ำสกัดชีวภาพที่หมักจากรกหมู” นำมาแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูกจะทำให้มีอัตราความงอกสูงขึ้นได้...

​              ด้วยเหตุผลนี้ ทาง ผศ.มนทนา รุจิระศักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้เริ่มต้นเข้าไปคลุกคลีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในแปลงนา...ด้วยเป็นนักเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (SEED TECH)...จึงทราบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาเป็นเมล็ดพันธุ์เก่า...โดยการแช่ในน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมูจะทำให้เมล็ดมีความงอกมากขึ้น...ซึ่งขัดกับทฤษฎีที่ได้ศึกษามา จึงหาเหตุผลด้วยทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้น

​              ผศ.มนทนา บอกว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการทดลองมี 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชัยนาทและพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ซึ่งมีความแตกต่างกัน คือ ข้าวพันธุ์ชัยนาท ไม่ไวต่อแสง ปลูกเมื่อไหร่ก็ได้

              ขอให้มีน้ำ ส่วนข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ไวต่อแสงจะออกดอกได้เมื่อเจอแสงในรอบปี และที่สำคัญอีกประการ ข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุงเป็นพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ในอนาคตจะมีพื้นที่การปลูกมากยิ่งขึ้น ส่วนการวิจัยมีหลายขั้นตอน ครั้งแรกนำมาทดลองแบบเกษตรกรปลูกทุกประการ คือ นำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำเปล่าธรรมดา กับ แช่ด้วยน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมู เพื่อตรวจดูผลที่ได้อย่างชัดเจนขึ้น...

​              ผลการวิจัยพบว่า การแช่น้ำสกัดชีวภาพจากรกหมูมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ต่างกัน โดยเพิ่มให้ เมล็ดพันธุ์งอกมากกว่าถึง 12.62 ต้นต่อวัน  ส่วน  แช่ในน้ำธรรมดาเมล็ดพันธุ์งอกเพียง 11.78 ต้นต่อวัน แต่ไม่มีผลต่อดัชนีการงอกของเมล็ด และน้ำหนักของต้นกล้า  สำหรับการต่อยอดความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ในการนำสารละลายน้ำสกัดชีวภาพ ไปใช้เป็นส่วนประกอบของสารพอกเมล็ดแทนสารเคมีบางชนิดในเมล็ดพอก (pellet seed) สำหรับการสร้าง เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีมูลค่าสูง หรือ เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตนั้น ซึ่งจะได้ดำเนินการวิจัยในลำดับต่อไป

​              ...ภูมิปัญญาชาวบ้านครั้งนี้...เป็นสิ่งที่กระทำต่อเนื่องกันมาและมีความเป็นไปได้จริง แต่หากได้นักวิชาการได้เข้าไปช่วยพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ก็จะทำให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจ ที่สำคัญนำไปเผยแพร่ก็เป็นอานิสงส์...แก่เกษตรกรคนอื่นนำไปใช้แล้ว...จะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น...!!

ไชยรัตน์ ส้มฉุน


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 9 เม.ย. 58