เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง หนุนกระทรวงการคลังขึ้นภาษียาสูบเต็มเพดาน



tmp_20151203110545_1.jpg


          ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ สนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่จะเสนอ ครม. ปรับการเก็บภาษีบุหรี่ เป็นการคำนวณตามราคาขายปลีก โดยกรณียาสูบขอให้คงอัตราภาษีปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีภาระภาษีสูงขึ้น 30% เนื่องจากเป็นสินค้าไม่จำเป็นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและไม่ได้ขึ้นภาษีมาสองปีครึ่งแล้ว

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การขึ้นภาษียาสูบครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 โดยขึ้นภาษีตามราคาต้นทุนหน้าโรงงาน หรือราคาซีไอเอฟ สำหรับบุหรี่นำเข้า จาก 85 เป็น 87% หรือคำนวณภาษีตามน้ำหนักมวนบุหรี่หนึ่งกรัม ต่อหนึ่งบาท ใช้ระบบสองเลือกหนึ่ง แล้วแต่ว่าวิธีไหนจะมีภาระภาษีสูงกว่ากัน ก็ให้เก็บตามนั้น โดยหวังว่าบุหรี่ซึ่งปกติมีน้ำหนัก หนึ่งกรัมต่อมวน จะทำให้มีภาระภาษีอย่างต่ำซองละยี่สิบบาท แต่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศได้แก้เกมโดยการนำเข้าบุหรี่ตราใหม่ที่มีน้ำหนักบุหรี่ต่อมวนน้อยกว่าหนึ่งกรัม ทำให้เสียภาษีเพียงซองละ 15-19 แทนที่จะเป็น 20 บาท ทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในปี พ.ศ. 2557 ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 11,799 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 72,800 ล้านบาท แต่เก็บได้เพียง 61,000 ล้านบาท การปรับวิธีเก็บภาษีมาคำนวณตามราคาขายปลีกจึงเป็นการแก้ปัญหาการคิดภาษีตามระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และทำให้รัฐมีรายได้จากภาษียาสูบเพิ่มขึ้น โดยช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ.2537- 2555 รัฐบาลไทยมีการขึ้นภาษี 10 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกสองปี อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ในปี พ.ศ.2557 อยู่ที่ 2,713 ล้านซอง เทียบกับที่จำหน่าย 2,135 ล้านซอง เมื่อปี พ.ศ. 2536 ก่อนที่รัฐบาลจะนำนโยบายการขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่มาใช้ โดยผลของการขึ้นภาษีแต่ละครั้ง จะหมดไปภายหลังจากการขึ้นภาษีไม่เกิน 2 ปี จากการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ และจากการที่บริษัทบุหรี่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการผลิตบุหรี่ตราใหม่ที่เสียภาษีน้อยกว่า อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้รัฐบาลประเทศภาคีสมาชิกขึ้นภาษียาสูบทุกๆ ปี ตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ และมีหลายประเทศทั่วโลกที่กำหนดเป็นกฎหมายให้มีการขึ้นภาษีตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ จากการใช้นโยบายภาษียาสูบเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ พร้อมๆ กับการทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  12 มีนาคม 2558