เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ม.หอการค้าไทย จี้เอกชนหันทำการตลาดในอาเซียน หลังอินโดนีเซียรุกชิงส่วนแบ่ง ผลวิเคราะห์ชี้เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกตลาดอาเซ๊ยน



tmp_20150203100726_1.jpg


              ม.หอการค้าไทย จี้เอกชนหันทำการตลาดในอาเซียน หลังอินโดนีเซียรุกชิงส่วนแบ่ง ผลวิเคราะห์ชี้เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกตลาดอาเซ๊ยน

              นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ "ประเมินความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใน 5 ปีที่ผ่านมา" จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,000 ราย พบว่า หลังปี 2553 มีสัดส่วนผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

              ในปี 2557 มีสัดส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เข้าใจ AEC มากขึ้น โดย 87.6% ของกลุ่มตัวอย่างตอบว่าเข้าใจมากขึ้น ส่วน 12.4% ยังตอบว่าไม่เข้าใจ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สัดส่วนถึง 98.3% ตอบว่าเข้าใจ มีเพียง 1.7%ที่ตอบว่าไม่เข้าใจ

              อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเข้าใจในส่วนข้อมูลเชิงลึก เช่น รายละเอียดกรอบความตกลงต่อสินค้าและบริการ อัตราภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี พบว่า SMEs 7.8% เท่านั้นที่ตอบว่าเข้าใจข้อมูลเชิงลึก ยังคงมีถึง 92.2% ที่รู้เพียงข้อมูลพื้นฐาน คือทราบว่าจะเปิดเสรีสินค้ส บริการและแรงงาน แต่ไม่ทราบรายละเอียด

              ส่วนสาเหตุที่ทำให้ SMEs ไม่เข้าใจ AEC เชิงลึก ส่วนใหญ่ 32.2% ตอบว่า เพราะต้องใช้เวลาศึกษา 30.8% ตอบว่า การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน และ 18.1% ตอบว่า ช่องทางประชาสัมพันธ์น้อยไม่ทั่วถึง

              ขณะที่แนวทางความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ 37% ตอบว่า จัดอบรม นำเสนอความรู้รายประเทศ 35.1% ตอบว่า เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ และ 12.3% ตอบว่า จัดทำเอกสารที่เข้าใจได้ง่ายและเร็ว

              ทั้งนี้ความเข้าใจเชิงลึกในกรอบความตกลง AEC เช่น ทราบรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ในกรอบความตกลงเปิดเสรีสินค้า บริการ แรงงานและ การลงทุน อัตราภาษี กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการไม่ใช่ภาษี พิธีการศุลกากรในอาเซียน การใช้มาตรฐานสินค้าร่วม

              ส่วนความเข้าใจเชิงลึกในแง่ข้อมูลการทำธุรกิจในอาเซียน เช่น มีข้อมูลคู่ค้าและคู่แข่งในอาเซียน ความต้องการสินค้าของคนในอาเซียน รายละเอียดกฎหมายการค้าการลงทุน เมืองที่ควรทำธุรกิจ เส้นทางขนส่งสินค้า ต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งมีเอสเอ็มอีไทยจำนวนน้อยมากที่เข้าใจเชิงลึกมีเพียง 1.88แสนรายจาก เอสเอ็มอี 2.2 ล้านราย

              จากสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการไม่เข้าใจในAEC เชิงลึก ทำให้เกิดข้อกังวลต่างๆตามมา โดยส่วนใหญ่ 19.8% ตอบว่า กังวลว่าจะมีสินค้าและบริการที่ราคาถูกกว่าเข้ามาแข่งขันมากขึ้น 19.7% จะเกิดการย้ายฐานการผลิตของบริษัทแม่/บริษัทขนาดใหญ่ และ 13.2% กังวลว่าจะเกิดนักลงทุนในอาเซียนเข้ามาลงทุนแข่งขันในไทยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs แข่งขันไม่ได้

              ในส่วนประเด็นการเข้ามาของสินค้าราคาถูกพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยกำลังถูกสินค้าจากอินโดนีเซียเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง จากการสำรวจสินค้าในตลาดเวียดนามเบื้องต้นพบว่ามีสินค้าจากอินโดนีเซียอยู่ในตลาดมากกว่าสินค้าไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีจุดแข็งที่คุณภาพ รสชาติและการทำการตลาด ซึ่งแนวทางตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจาก สิงคโปร์และมาเลเซีย

              "ถ้าสินค้าไทยไม่ทำอะไร ยังอยู่ในระดับนี้ต่อไปส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนจะค่อยๆหายไป โดยมีอินโดนีเซียเป็นตัวหลักสำคัญที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มสินค้าคุณภาพ ขณะที่กลุ่มสินค้าทั่วไปจะมีสินค้าจาก กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม ที่ได้รับการลงทุนจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด"

              ทั้งนี้ แนวทางการทำตลาดสินค้าไทย ในส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ควรใช้ช่องทางโฆษณาทางทีวีในประเทศเป้าหมาย เพื่อย้ำความนิยมสินค้าไทยรักษาฐานตลาดที่มีอยู่และเพิ่มการรับรู้เพื่อขยายฐานตลาดต่อไป แต่ยอมรับว่าวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะกับสินค้าของSMEs ซึ่งควรหันไปทำการตลาดทางตรงด้วยการเข้าไปในย่านการค้า ย่านชุมชน

              นำสินค้าให้ผู้บริโภคได้ทดลองโดยตรงและรับรู้ถึงคุณภาพ โดยยังสามารถใช้แบรนด์การเป็นสินค้าไทย เป็นตัวนำการทำการตลาดได้ เพราะสินค้าไทยเป็นที่รับรู้ในอาเซียนอยู่แล้วว่ามีคุณภาพ แต่คุณภาพอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบการสำหรับตลาดอาเซียนอีกต่อไป


ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558