เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่มาพร้อมความอ้วน



tmp_20152202130720_1.jpg


โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ อย่างเช่น “ไขมันพอกตับ” ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่

          ข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่า 50.1% ของผู้ป่วยเบาหวาน และ 57.7% ของผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำมีภาวะไขมันพอกตับสูง

          นอกจากนี้ยังพบว่า 25% ของผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะของไขมันพอกตับเพิ่มสูงขึ้น

          ส่วนในเด็ก มีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า เด็กวัยรุ่นที่อ้วนมีภาวะโรคไขมันพอกตับสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่อ้วนถึง 15-20 เท่า ล่าสุดพบเด็กอ้วนป่วยด้วยโรคตับแข็งตั้งแต่อายุ 8 ขวบ

          บางคนคิดว่าไขมันพอกตับคือโรคที่มีไขมันไปพอกอยู่บนตับ แต่จริงๆ แล้ว ไขมันพอกตับ หรือ Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เป็นโรคที่เกิดจากการสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ทำให้ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับมีน้ำหนักเกิน 5% ของตับ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เกิดภาวะตับอักเสบและอาจพัฒนาเป็นตับแข็งได้ในที่สุด

          ความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ

          ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

          ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง

          และ ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่อาจทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับ

          ที่น่าเป็นห่วงคือ ในระยะแรกๆของโรค ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แม้กระทั่งโรคพัฒนาเป็นตับอักเสบหรือตับแข็งแล้วบางราย ก็ยังไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงมักจะไม่รู้ตัวหรือไม่ใส่ใจในการรักษา ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อรักษาโรคอื่น

          ผู้ป่วยไขมันพอกตับกว่า 50% ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรก แต่บางรายก็อาจมีอาการบ้าง แต่เป็นอาการทั่วๆไปไม่จำเพาะ เช่น รู้สึกอึดอัดหรือปวดแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา เบื่ออาหาร รู้สึกท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ อ่อนเพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ในรายที่อาการเริ่มรุนแรงอาจมีอาการดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ตรวจพบระดับคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ค่าเอนไซม์ตับ sgpt, sgot สูงขึ้น ซึ่งแสดงว่าตับมีการอักเสบ

          โรคนี้อันตรายมากน้อยแค่ไหน อย่างแรกคือ ถ้ามีภาวะของไขมันพอกตับ ตับก็จะทำงานไม่ปกติ หรือถึงขั้นผิดปกติ ทั้งนี้ เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกาย

          ตับทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น กักเก็บสารอาหาร สังเคราะห์โปรตีน คอเลสเทอรอลและวิตามิน ผลิตน้ำดีเพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน ควบคุมการสันดาปของฮอร์โมน ผลิตสารที่นำเกล็ดเลือดไปห้ามเลือดเมื่อผนังหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ

          และกำจัดสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย ฯลฯ แต่เมื่อมีเซลล์ไขมันจำนวนมากแทรกอยู่ในเซลล์ตับจะทำให้โครงสร้างภายในของตับเปลี่ยนแปลงไปทำให้ตับทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย

          ภาวะไขมันพอกตับส่วนใหญ่เป็นโรคที่มาพร้อมกับโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆอาจเป็นโรคที่เป็นอยู่เดิม หรืออาการของโรคเดิมกำเริบ เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ เช่น โรคเบาหวาน ตับขาดสารอาหาร ตับอักเสบจากไวรัส ฯลฯ โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน โลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ เกาต์ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ มีการวิจัยพบว่าภาวะของไขมันพอกตับเป็นปัจจัยที่ไปเพิ่มความรุนแรงของโรคเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลการรักษาของโรคเรื้อรังเหล่านี้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลงเรื่อยๆจนไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมได้ และอาจกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

          การรักษาภาวะไขมันพอกตับที่ง่ายที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัว โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะอ้วนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การลดน้ำหนัก จะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับดีขึ้น ทั้งนี้ เพราะคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูง มีโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้ถึง 90%

          การลดน้ำหนักอาจทำได้โดย การควบคุมอาหาร ลดการรับประทานเนื้อแดงจากสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรักโทสในปริมาณสูง งดดื่มน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ปรุงแต่ง บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก ออกกำลังกาย ในรายที่มีอาการรุนแรงมากแพทย์

          อาจแนะนำให้กินยา รักษาตามอาการของโรคที่มีการแทรกซ้อนจากไขมันพอกตับ เช่น ให้ยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง

          แม้โรคไขมันพอกตับจะไม่ใช่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือภาวะโรคอื่นๆที่มีอาการดำเนินของโรคอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่อย่าลืมว่า “ตับ” เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ที่ช่วยกรองสารพิษและทำหน้าที่สำคัญๆอีกมากในร่างกาย หากไม่ดูแลรักษาอวัยวะนี้ให้ดีแล้ว โอกาสที่โรคอื่นๆจะถามหา ก็เป็นไปได้ไม่ยาก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th วันที่ 21 ก.พ. 2558