เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ภาครัฐเร่งแก้ไขราคายางพาราทั้งระบบแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

          ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ใช้ยางรายใหญ่ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ประกอบกับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางพาราปัจจุบันยังทรงตัว หรืออาจจะสูงขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่สถานการณ์ยางพาราโดยรวมเริ่มมีทิศทางดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสต็อกยางของไทยอยู่ในระดับที่ภาครัฐสามารถใช้กลไกตลาดปกติบริหารจัดการได้ ขณะเดียวกันภาครัฐยังเร่งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ทำให้สถานการณ์ยางพาราของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

          อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การที่ภาครัฐได้เร่งขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สถานการณ์ยางพาราเริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการควบคุมปริมาณการผลิตซึ่งมี เป้าหมายสนับสนุน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดให้ลดขั้นตอนการปฏิบัติในการขอรับการสงเคราะห์ให้เร็วขึ้น และให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางยื่นคำขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทน จำนวน 39,990 ราย คิดเป็นเนื้อที่โค่นยาง จำนวน 446,116.33 ไร่ เกินเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้ จำนวน 400,000 ไร่ คาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางของไทยโดยรวมลดลง และมีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดลดลง ซึ่งจะทำให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้น "จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายยึดคืนผืนป่า และตัดโค่นสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน 600,000 ไร่ เชื่อว่าจะส่งผลให้ปริมาณ การผลิตยางพารามีความสมดุลกับความต้องการใช้ยางของโลกมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยผลักดันราคายาง ตลอดจนเป็นการจัดระเบียบการปลูกยางของไทยให้เหมาะสมและยั่งยืนในระยะยาวด้วย"  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

          สำหรับฤดูการผลิตยางปี 2558/59 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด แต่มีการทบทวนบางมาตรการที่ยังไม่คืบหน้าและไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งอาจมีการทบทวนว่าจะใช้มาตรการเดิมหรือใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยรายได้ของเกษตรกร

          คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนปีนี้รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงราคายางพารา จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ โดยภาครัฐมีแผนเข้าไปรับซื้อยางด้วย แม้ไม่ได้อยู่ภายใต้โครงการมูลภัณฑ์กันชนฯ แต่เป็นการซื้อเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อของจีนตามสัญญารัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 200,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มมูลค่ายางและลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ รวมทั้งกระชับความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อยกระดับราคายางในตลาดโลกให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

          ด้านอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คาดการณ์ว่า ปี 2558 จะมีผลผลิตยางทั้งประเทศประมาณ 4.27 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิตรวม 4.42 ล้านตัน คิดเป็น 3.51% สำหรับราคายางปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือว่าขยับตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเพิ่มยังไม่สูงมาก โดยราคายางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 50-60 บาท/กิโลกรัม

          "ราคาจะทรงตัวไปจนถึงปี 2559 เนื่องจากความต้องการยางในตลาดโลกโดยรวมยังคงซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเร่งรัดให้พัฒนาตลาดยางพาราภายในประเทศ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายระบบตลาดต่างๆ ให้เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องราคารับซื้อ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบตลาดยางพาราของไทยด้วย" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว



ที่มา : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก  วันที่ 1 สิงหาคม 2558  หน้า 6