เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
อนาคตห้องสมุดในโลกยุคดิจิทัล

          นักข่าวเอวบาง

          เคยถามตัวเองบ้างไหมว่าทุกวันนี้ เราเดินเข้าห้องสมุดเฉลี่ยเดือนละกี่ครั้ง?...เพราะถ้าไม่นับห้องสมุดในสถานศึกษา มั่นใจมากกว่าบางทีการวัดปริมาณในระยะเวลา 1 เดือนอาจจะสั้นไปด้วยซ้ำสำหรับคนทั่วไป เพราะปัจจุบันความรู้ที่ต้องการสามารถค้นหาได้จากหลากหลายสื่อ ไม่ใช่เพียงในหนังสืออย่างที่ผ่านมา

          ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้จึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้มหาศาลผ่านโลกไซเบอร์และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่มาเคาะประตูถึงหน้าบ้านเรา อย่างไม่จำเป็นต้องออกไปค้นหาให้เสียเวลาในการเดินทาง เป็นความสะดวกสบายในโลกดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ถ้าเช่นนั้นแหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุดจะยังคงรักษาบทบาทและศักยภาพในการตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของผู้คนรุ่นใหม่ได้หรือไม่? ห้องสมุดจะยังมีความสำคัญต่อสังคมอยู่หรือไม่?อนาคตของห้องสมุดจะเป็นเช่นไรหากปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง? และห้องสมุดในอนาคตควรจะมีบทบาทอย่างไร?

          วัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park จะชวนมาร่วมค้นหาทุกคำตอบของคำถามในงาน TK Forum 2015 "Library Futures : Challenges and Trends" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2558 เวลา 8.30-17.00 น. ณ ห้องอโนมาแกรนด์ โรงแรมอโนมา

          "TK park ทำเรื่องแหล่งเรียนรู้อยู่แล้ว และห้องสมุดก็เป็นรูปแบบหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสากลทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือมีข้อมูลและข่าวสารจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ห้องสมุดในโลกนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่" วัฒนชัยอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการจัด TK Forum 2015 ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาวิเคราะห์ว่าเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเข้าถึงความรู้ และพฤติกรรมในการแสวงหาความรู้ของคนรุ่นใหม่  "การเข้าถึงคือทรัพยากรที่เป็นแหล่งความรู้ ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่จะเข้าถึงความรู้เหล่านั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดอย่างเดียว เพราะการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตที่มีความแพร่หลายมาก ทำให้ทรัพยากรเนื้อหา แหล่งความรู้ต่างๆสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการแสวงหาความรู้ด้วย เพราะคนไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาในพื้นที่กายภาพ ใช้เพียงแค่อุปกรณ์พวกสมาร์ทดีไวซ์ การคลิก การเสิร์ซ ก็สามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่อย่างมหาศาลในโลกไซเบอร์ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดกายภาพจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ว่านี้ ...ห้องสมุดในต่างประเทศหลายแห่งได้ล้มหายตายจากเพราะปรับตัวไม่ได้ แต่ก็มีห้องสมุดอีกหลายแห่งที่มีความสามารถในการปรับตัว ก็สามารถที่จะรักษาความเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ไว้ได้" วัฒนชัยอธิบาย โดยการปรับตัวที่เห็นชัดที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดเพื่อการยืมคืน มาสู่การให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นหลักแล้วจัดสรรหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ของผู้ใช้ห้องสมุดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเปลี่ยนจากผู้ใช้เก่ายุคอนาล็อกมาเป็นผู้ใช้รุ่นดิจิทัล ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าถึงความรู้ผ่านเครื่องมือตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

          "เสิร์ชเอ็นจินบนอุปกรณ์ที่อยู่ในมือของทุกคนคือโลกห้องสมุดที่ทำให้แรงจูงใจหรือความจำเป็นให้คนเดินเข้าห้องสมุดที่เป็นพื้นที่กายภาพน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ห้องสมุดทางวิชาการ อาทิ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเพื่อการอ้างอิง อาจมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เพราะความเฉพาะเจาะจงทั้งในแง่ของเนื้อหาและทรัพยากรห้องสมุด ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกับห้องสมุดประชาชน (public library) การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงกลับไม่ค่อยทันการณ์ ทำให้มีผู้ใช้ห้องสมุดน้อยลง งบประมาณถูกตัดทอนจนไม่เพียงพอ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังพบว่ามีห้องสมุดประชาชนทยอยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ทางรอดของห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศคือการปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเกิดนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

          สำหรับสังคมไทย แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏข่าวคราวการล้มหายตายจากของห้องสมุดประชาชนดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น แต่ไม่ช้าก็เร็ว ในที่สุดชะตากรรมก็อาจไม่แตกต่างกัน"

          วัฒนชัยมองว่า เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะดังกล่าวห้องสมุดประชาชนจะต้องเริ่มต้นคิดและเตรียมปรับตัวก่อนที่ผลกระทบจะมาถึง

          "ประเด็นซึ่งต้องคิดวิเคราะห์คือแนวโน้มในอนาคต 2 เรื่องได้แก่ หนึ่ง บทบาทของห้องสมุดสอง รูปแบบและการจัดการพื้นที่ห้องสมุด ส่วนการปรับตัวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์อย่างน้อย 3 ประการได้แก่ หนึ่งความเข้าใจและเท่าทันต่อความก้าวหน้าในโลกเทคโนโลยีและการกระจายตัวของข้อมูลสารสนเทศ สอง การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ และสาม การปรับมุมมองวิธีคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ของห้องสมุดเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความคิดก็ต้องเปลี่ยนไปให้ทันโลก ห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง มิฉะนั้นจะไม่ต่างไปจากไดโนเสาร์ยุคดิจิทัล ที่วันหนึ่งก็ต้องสิ้นสูญ"

          ในงาน TK Forum 2015 "Library Futures :Challenges and Trends" นี้จะมีหัวข้อการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ "Futures and the Library: emerging issues,scenarios and visions of the changing library" โดย Sohail Inayatullah (ออสเตรเลีย) ,"Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations" โดย Jens Thorhauge (เดนมาร์ก) ,"Manchester Libraries - Transformation and Renewal" โดย Neil MacInnes (สหราชอาณาจักร) และ "Learning Space, Community Space, Maker Space แนวโน้มสู่ห้องสมุดอนาคต" โดย พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี) ทิฐินันท์ โชตินันทน์ (บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด) ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ (Maker Zoo)

          "เราจัดงานนี้ขึ้นมาเพราะเราต้องการเอากรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หรือทฤษฎีที่เกิดขึ้นจริง มาแลกเปลี่ยน เปิดมุมมองกับคนที่เกี่ยวข้อง กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ยังไม่ชัดในสังคมไทย แต่เชื่อว่ามาถึงแน่นอน"

          ถ้าไม่สะดวกมาร่วมงาน สามารถชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Youtube ได้ โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า TK Forum 2015...ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

          'ตัวหนังสือสามารถโยกขุนเขาที่หนักแน่นให้สั่นคลอนได้'

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 12 ก.ค. 58  หน้า 10