เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เปิดโผสุดยอดทักษะผู้นำ

          รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข
          siryupa.roongrerngsuke@sasin.edu


          เรื่องของผู้นำและการจูงใจเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาพูดคุยกันมา หลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว และ คงจะต้องคุยกันไปอีกหลายร้อยหลายพันปี

          ไม่มีจบ ตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์อาศัยอยู่ในโลก ต่อให้มนุษย์เราจะฉลาดเลิศเพียงใดก็ตาม  ก็ยากที่จะสามารถใช้ความฉลาดมาบริหาร มานำ และจูงใจมนุษย์คนอื่นที่ต่างจิต ต่างใจกันได้เต็มร้อย

          เรื่องเต็มร้อยอย่าไปหวังเลยค่ะ เพราะมันเกินเอื้อม ขอแค่ให้ได้ใจคนในองค์กรและคนในชุมชน ที่เราต้องดูแลบริหาร สักครึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าประเสริฐแล้วล่ะ เพราะมนุษย์เราไม่ได้ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต แต่มนุษย์เรามีอารมณ์ที่ผันแปรไปตามรัก โลภ โกรธ หลง ด้วยเหตุผลนี้เอง เราจึงใช้เพียงเหตุผลในการนำ และการจูงใจคนไม่ได้

          วันนี้ขอเจาะเฉพาะเรื่องของการเป็นผู้นำอย่างเดียวก่อนค่ะ ในแง่วิชาการเราก็มี ทฤษฎีต่างๆ มากมายที่ชี้แนะว่า ผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ควรมีคุณลักษณะอะไรบ้าง ซึ่งคุณลักษณะนี้เป็นคำรวมที่หมายถึงบุคลิกภาพ (Personality) ความรู้ (Knowledge) ทัศนคติ (Attitude) และทักษะ ซึ่งเมื่อแตกรายละเอียดลงไปในแต่ละหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ ความรู้ ทัศนคติ หรือทักษะ แต่ละหัวข้อ ก็มีรายการแตกย่อยลงไปอีก

          สรุปภาพรวมก็คือ จะเป็นผู้นำที่ดีต้อง มีคุณสมบัติหลายประการ ซึ่งเมื่อสรุปความ ได้เช่นนี้ ก็ยังมีคนตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าจะให้เลือกคุณสมบัติเพียงข้อเดียวในหลายๆ ข้อที่ผู้นำพึงมี คุณสมบัติข้อนั้นคืออะไร? ตามความเห็นส่วนตัวของดิฉัน มองว่า ผู้ที่จะสามารถมีอิทธิพล (Influence) ในการชักจูงจิตใจให้ผู้อื่นชื่นชอบ เชื่อถือ และยอมรับในตัวเขาให้เขาเป็นผู้นำ

          ในเบื้องแรกบุคคลคนนั้น ต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีก่อน เพราะการที่ใครสักคนจะสามารถชักจูงใจคนอื่นให้มาทำงานด้วย หรือมาเป็นสมัครพรรคพวกได้ โดยทั่วไป มันก็ต้องเริ่มจากการพูดจาปราศรัย มีการชี้แจงแสดงเหตุผลกันก่อน มีผู้นำน้อยรายนักที่ไม่ต้องพูดจาสื่อสารกับใครเลย มุ่งหน้าลงมือปฏิบัติงานโดยหวังให้ผลงานเพียงอย่างเดียว เป็นเครื่องพิสูจน์อุดมการณ์  และเป็นตัวดึงดูดศรัทธาจากคนรอบข้าง

          ดิฉันไม่ปฏิเสธว่า โลกเราไม่มีผู้นำแบบนี้ เรามีค่ะ แต่หายากดังกล่าวมาแล้ว โดยทั่วไปก็ต้องเริ่มจากการพูดจาสื่อสารชักจูงจิตใจ ด้วยกันทั้งนั้น ดิฉันจึงมีความเห็นว่า ทักษะในการสื่อสารเป็นคุณสมบัติประการแรก  ที่จะเปิดเส้นทางในการเป็นผู้นำ และก็เป็นสาเหตุแรกที่จะทำให้ผู้นำหล่นจากเก้าอี้ด้วย

          ฟังเหตุผลจากดิฉันคนเดียว อาจไม่มีน้ำหนักพอ ดิฉันเลยลองนึกถึงคำสั่งสอนของคนโบราณในรูปแบบของสุภาษิต  และคำพังเพย ดิฉันนึกถึงคำโบราณที่ว่า "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท" นึกถึงคำกลอนของท่านกวีสุนทรภู่คือ "เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ" ... คำสอนนี้บ่งบอกให้เราตระหนักถึงความสำคัญของคำพูดในการสื่อสาร ที่มีน้ำหนักต่อความอยู่รอด หรือความสำเร็จของคนเรามากยิ่งกว่าความรู้เสียอีก

          พิจารณาคำสั่งสอนของคนไทยแล้ว หันมาดูทางฝั่งตะวันตกดูบ้าง "ทอม ปีเตอร์ส" ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "In Search of  Excellence" ที่เป็นเบสต์เซลเลอร์เมื่อยี่สิบ กว่าปีก่อนนู้น กล่าวว่า "Communication  is everyone's panacea for everything."(การสื่อสารคือยาครอบจักรวาลสำหรับ ทุกคน) เพราะไม่ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น  ทุกคนย่อมต้องสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาทั้งนั้น

          เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันได้อ่านพบบทความอยู่ เรื่องหนึ่งที่ถูกใจดิฉันมาก บทความนั้นคือ เรื่อง "Leadership is a Conversation"  (ภาวะผู้นำ คือเรื่องของการสนทนา) เขียนโดยบอริส กรอยสเบิร์ก อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ ไมเคิล สลินด์  นักเขียนและที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2012

          บทความนี้ได้นำเสนอผลการวิจัยของทั้งคู่ ในเรื่องสถานะของการสื่อสารในองค์กรแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งคู่ได้ใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเก็บข้อมูล จากการสัมภาษณ์ นักสื่อสารมืออาชีพ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำ ในองค์กรทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ทั้งที่เป็น องค์กรชั้นนำและองค์กรรุ่นกระเตาะ  ทั้งที่เป็นองค์กรอเมริกันและองค์กรต่างชาติ  รวมแล้วประมาณ 150 คนจาก 100 องค์กร

          สรุปสาระสำคัญได้ว่า พวกเขาล้วนพยายามออกแบบสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กร ที่เน้นการสื่อสารที่ทั่วถึง  จนทำให้พนักงานรู้สึกว่า การสื่อสารใน ที่ทำงานของเขานั้น ลื่นไหลทั่วถึงเหมือน การสื่อสารในองค์กรเล็กๆ

          จากข้อมูลที่บอริสและไมเคิลได้รับจากการสัมภาษณ์ ทำให้ทั้งสองได้พัฒนาแบบจำลองของ "การสนทนา" (Conversation) ในองค์กร เขาเลือกใช้คำว่า "สนทนา"  แทนคำว่า "สื่อสาร" เพราะเขาได้เรียนรู้จากบรรดาผู้นำเหล่านั้นว่า "การได้สนทนากับพนักงาน (ในเรื่องต่างๆ) นอกเหนือจากการสั่งงาน (อันเป็นการสื่อสารทางเดียว ที่ผู้นำทั้งหลายชอบประพฤติ!) ทำให้ผู้นำสามารถรักษา (retain) และยึดเอาสิ่งดีๆทั้งหลายมาไว้ได้ ซึ่งสิ่งดีๆ ทั้งหลายนั้น คือ ความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการ  ความผูกพันจงรักภักดีต่อองค์กรของพนักงาน ระดับของการเชื่อมโยงกลยุทธ์อย่างแน่นหนา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนช่วยทำให้องค์กรแล่นลิ่วพุ่งฉิวในการแข่งขัน"

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นำหลายท่าน จะตระหนักถึงความสำคัญ และอานิสงส์ของการสื่อสาร แต่หลายท่านก็ได้แต่ตระหนัก โดยที่ยังไม่สามารถพัฒนาทักษะในการสื่อสาร เพื่อสร้างภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ เรื่องนี้เหมือนเส้นผม บังภูเขา จำเป็นต้องอาศัยการโค้ชชิ่งจาก ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยสะท้อนจุดอ่อน และฝึกปรือวิทยายุทธ์ในการสื่อสารให้ดีขึ้น

          มาถึงตรงนี้ก็ขออนุญาตประชาสัมพันธ์สักหน่อยนะคะ หากท่านผู้บริหารสนใจเรื่องการพัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อภาวะผู้นำที่เป็นเลิศ ศศินทร์มีจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องนี้อยู่ 3 วัน ช่วงระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2558 นี้ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ http://execed.sasin.edu/contact/ หรือโทร. 2218-4004-8 Ext.164-167 ค่ะ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 13 ก.ค. 58  หน้า 27