เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เอสซีจีใช้นวัตกรรมฟื้นฟู

          เอสซีจีส่งเสริมเกษตรกรภาคอีสานฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้แก้ปัญหาความเค็มของดิน และใช้พื้นที่ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมพัฒนาที่ดิน

          พรพิมล มฤคทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี (SCG) เปิดเผยว่า เอสซีจีร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินโครงการ "นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม" มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดการทำเกษตรกรรม โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สามารถเพาะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ทำอาชีพเสริม เช่น ปลูกพืชหรือผลไม้พันธุ์ทนดินเค็ม เพาะเห็ด ทำปุ๋ยจากมูลสัตว์ ชุมชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองและครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

          "ความสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรมคือ เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด สามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตัวเองได้ ผลผลิตการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ชุมชนบ้านโพนสูง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินเค็มให้อุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งยังได้แบ่งปันถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ เพื่อช่วยกันพลิกฟื้นผืนดินเค็มให้เป็นท้องทุ่งเขียวขจีต่อไป" พรพิมล กล่าว

          ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า พื้นที่ดินเค็มในภาคอีสานเกิดจากชั้นเกลือขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดินและน้ำจากชั้นเกลือดังกล่าวแพร่กระจายขึ้นมาบนผืนดิน ส่งผลให้ดินมีความเค็ม โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร และอุดรธานี สำหรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มให้เพาะปลูกพืชได้มี 3 ขั้นตอน คือ กินอิ่ม ห่มผ้า และนอนใต้ต้นไม้

          "ดินก็เปรียบเหมือนกับคน จึงต้องดูแลเหมือนเป็นเพื่อนของเราด้วยเทคนิคง่ายๆ และใช้วัสดุในท้องถิ่น คือ กินอิ่ม ก่อนจะเพาะปลูกพืช ต้องให้อาหารดินด้วยการเติมอินทรียวัตถุลงไป ห่มผ้า หรือการห่มดินด้วยเศษฟาง เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือเศษพืชอื่นๆ เพื่อลดการระเหยของน้ำออกจากผิวดิน ช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้น สุดท้าย คือ นอนใต้ต้นไม้ ปลูกไม้ใหญ่หรือไม้ผลทนดินเค็มที่มีรากยาวกว่าต้นข้าว เพื่อให้รากไม้ช่วยดูดน้ำใต้ดินจากชั้นเกลือไม่ให้แพร่กระจายบนดิน เช่น ต้นยูคาลิปตัส และสามารถตัดขายเมื่อโตเต็มวัย เพื่อเป็นรายเสริมได้ด้วย" ดร.เฉลิมพล กล่าว

          สุพจน์ ระยับศรี เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากโครงการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูดินเค็ม จ.อุดรธานี บอกว่าหลังจากได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการเข้าร่วมโครงการแล้ว ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบเดิม นอกจากจะได้ปริมาณข้าวที่สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 350-400 กิโลกรัมต่อไร่แล้ว ยังมีความสุขจากการทำนาบนพื้นที่ของตัวเอง มีรายได้เพิ่ม และที่สำคัญคือ ได้มีโอกาสกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว และยังมีกำลังใจที่จะพัฒนาที่นาของตัวเองให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการปลูกพืชไม้ผลสายพันธุ์ทนเค็มด้วย

          นับเป็นอีกก้าวของเอสซีจีในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในจังหวัดภาคอีสานพร้อมกับการสร้างรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงสีข้าว การผลิตปุ๋ย และแปรรูปผลผลิต จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่มีการพึ่งพากันอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างถาวรของเกษตรกรบนพื้นที่ดินเค็ม

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 14 ก.ค. 58  หน้า 10