เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ล้มแผนตั้งธนาคารที่ดินแบงก์ออมสินรับหน้าเสื่อ

          "คลัง" เปิดทางแบงก์ออมสิน เสนอ ครม.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบสัปดาห์หน้า พร้อมตั้งงบช่วยเหลือ 500 ล้านบาทแทนตั้งธนาคารที่ดิน "ชาติชาย" เดินเกมลุยหนี้นอกระบบ - นำที่ดินประเมินขอรับสินเชื่อได้สูงสุดไม่เกินรายละ 5 แสนบาท หรือ 50% ของราคาประเมิน พร้อมรีไฟแนนซ์-ปรับโครง สร้างหนี้ครู หลังพบถูกฟ้องคดีแล้ว 4-5 หมื่นราย

          นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่พบว่ามีการนำที่ดินหรือสินทรัพย์ไปจำนอง และเกิดเป็นหนี้นอกระบบนั้น เบื้องต้น ต้องยอมรับว่า การจัดตั้งธนาคารที่ดินนั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดต้นทุนของภาครัฐจำนวนมาก ตั้งแต่ราคาที่ดินต้องมีการประเมิน ดังนั้นจึงใช้เครื่องมือที่ภาครัฐมีอยู่ คือ ธนาคารในกำกับของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปช่วยเหลือ โดยแนวทางที่จะเป็นรูปธรรม อาทิ การยืดระยะเวลา การพักชำระหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะเข้าไปสำรวจข้อมูล รวมถึงประเมินอัตราเร่งของการเกิดหนี้ในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับล่างเกษตรกร  ข้าราชการ รวมถึงภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในเร็วๆ นี้

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในฐานะที่ธนาคารออมสินเป็นหนึ่งในธนาคารในกำกับของรัฐ ขณะนี้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านภัยแล้ง คาดว่าจะเสนอครม.ภายในวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2558  ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบ (สำหรับรายย่อย) ตามแนวทางการช่วยเหลือของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้สถาบันการเงินในกำกับของรัฐเข้าไปดูแลปัญหานี้ ซึ่งต้องยอมรับว่านโยบายของธนาคารออมสิน นอกเหนือจากการเป็นธนาคารที่มีหน้าที่รับเงินฝากแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลลูกค้ารายย่อยอีกเช่นกัน

          สำหรับแนวทางคือ ธนาคารออมสินกำหนดให้ปล่อยสินเชื่อต่อรายโดยอิงตามราคาประเมินสินทรัพย์ไม่เกิน 50% ของราคาประเมิน โดยผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นหนี้นอกระบบที่มีสินทรัพย์ติดจำนอง หรือรอการไถ่ถอนกับเอกชน โดยต่อรายจะได้รับสินเชื่อสูงสุดไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ทั้งโครงการจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้(ตลอดโครงการ) 500 ล้านบาท  แต่หากไม่พอจะเสนอบอร์ดธนาคารออมสินเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มภายหลัง

          เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อนั้น ยกเว้นการชำระดอกเบี้ย (ปลอดดอกเบี้ย) 2 ปีแรก บนพื้นฐานอัตราดอก เบี้ยที่ MRR หรือดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี ในอัตรา 7.475% ต่อปี โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถยื่นชำระเฉพาะเงินต้นได้ในช่วง 2 ปีแรก

          ขณะเดียวกันนโยบายการช่วยเหลือภัยแล้งนั้น ขณะนี้ผลกระทบภัยแล้งลากยาวและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง  ในส่วนของธนาคารออมสินจึงได้มีนโยบายในการลดค่าครองชีพของลูกค้า  โดยเปิดให้ลูกค้าลงชื่อเข้าร่วมโครงการพักหนี้เพื่อจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าลงชื่อเข้ามาแล้ว 8 หมื่นราย วงเงินขออนุมัติแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจากการต่อมาตรการดังกล่าวในระยะที่ 2 คาดว่าเมื่อจบสิ้นโครงการจะมีผู้สนใจเข้าโครงการรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนราย วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังมีแนวคิดที่จะขยายความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มอาชีพข้าราชการครู เนื่องจากปัจจุบัน ฐานลูกค้าที่ขอสินเชื่อกับทางธนาคารมีไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย พบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มครูมีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น

          "จากตัวเลขตอนนี้ธนาคารมีตัวเลขกลุ่มครูที่เป็นหนี้และมีตัวเลขที่ถูกฟ้องคดีรวมทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นราย หรือคิดเป็น 10% ของฐานลูกค้าที่เป็นครูทั้งหมด แต่ทั้งนี้หากประเมินแนวโน้มยังถือว่ากลุ่มครูเป็นหนึ่งในอาชีพที่เป็นหนี้เสียไม่มากนัก หรือเฉลี่ยเป็น NPL ไม่ถึง 1% ซึ่งเฉลี่ยครู 1 คนจะเป็นหนี้ประมาณ 1 ล้านบาท ดังนั้นหากครูที่สนใจสามารถลงชื่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายหลังกระทรวงศึกษาธิการจะจัดพอร์ตพร้อมส่งรายชื่อมายังธนาคารออมสินเพื่อเข้าสู่กระบวนการยืดระยะเวลาชำระหนี้ต่อไป"

          อนึ่ง  ออมสินได้จัดกลุ่มครูออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีหนี้รุนแรงถูกฟ้องคดีไปแล้ว โดยช่วยเหลือให้ชะลอการฟ้องคดีและกำหนดให้กลุ่มนี้ชำระเงินต้นปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปีและในปีที่ 4 จึงค่อยกลับมาผ่อนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใหม่อีกครั้ง  2.  กลุ่มใกล้วิกฤติ /มีค้างชำระมากกว่า 1 ปี รายละเอียดและแนวทางจะเป็นการกำหนดให้ลูกหนี้สามารถผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยเพียงครึ่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 2 ปี คิดเป็นจำนวน 3.8-3.9 หมื่นราย  3.เป็นหนี้และมีการค้างชำระนาน 3-12 งวด (เดือน) และกลุ่มที่ 4 เป็นลูกหนี้ปกติ ซึ่งกลุ่ม 3-4 ถือเป็นกลุ่มครูที่มีกำลังและความสามารถในการชำระหนี้ อาจไม่ต้องเข้าโครงการยืดระยะเวลาชำระหนี้ก็เป็นได้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16 - 18 ก.ค. 2558  หน้า 16