เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
รัฐอัดเงินแก้แล้งช้า เศรษฐกิจทรุดหนัก

          เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

          ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากเท่านั้น โดยเฉพาะผลกระทบกับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยหรือยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายและการชำระหนี้ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยส่อวิกฤต

          รัฐบาลมีการประเมินปัญหาภัยแล้งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ลดลง 0.5% ต่อปี นั่นหมายความว่าหน่วยงานไหนที่ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไว้ก่อนหน้านี้เท่าไร ก็ต้องหักลบทิ้งไป 0.5% ทันที หากดูการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำไว้ก่อนภัยแล้งรุนแรงจะมาเยือน คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 3% ต่อปี ถ้าหักผล กระทบจากภัยแล้งออกไปก็จะเหลือการขยายตัวได้ 2.5% ต่อปีเท่านั้น   ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุด ที่ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% เท่านั้น

          นั่นหมายความว่าปัญหาภัยแล้งจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลไม่อยากเห็น เพราะจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีน้อยอยู่แล้วให้ลดลงไปอีก ทำให้เศรษฐกิจไทยไหลดิ่งลงจนหาแนวรับไม่เจอ

          ปัญหาของภัยแล้งที่กระทบเศรษฐกิจไทยหนักหนาสาหัส เพราะการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในขณะนี้คู่กับการเร่งเบิกจ่ายรัฐบาล เนื่องจากการส่งออกของไทยพึ่งไม่ได้ มูลค่าติดลบ ทุกเดือนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็ยังพึ่งไม่ได้ เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจทั้งรัฐบาลและเศรษฐกิจของไทย ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป

          เมื่อปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรเพาะปลูกไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ การจับจ่ายใช้สอยก็ต้องลดลง ส่งผลให้การบริโภคของประเทศชะงัก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวขยายตัวลดลงเรื่อยๆ ยังไม่รวมกับปัญหาการชำระหนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องอ่อนแอลง

          สัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้นักวิชาการออกมาเตือนรัฐบาลให้เร่งแก้ไข โดยการอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเป็นการด่วน ก่อนที่จะเป็นไฟลามทุ่งแก้ไม่ทัน

          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขงบประมาณปี 2559 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาวาระ 2 โดยให้หั่นเงินก้อนใหญ่มาทุ่มกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการอุดหนุนเกษตรกรเป็นการเฉพาะ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเป็นหลักแสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ผล อุ้มการบริโภคของภาคเกษตรกรให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ตอบรับกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะติดปัญหาทางกฎหมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรอบงบประมาณที่กำหนดรายจ่ายไปหมดแล้ว การรื้องบเพื่อกันเงินมาแก้ปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ยังทำให้ต้องหั่นงบลงทุนในส่วนอื่นมาเพิ่ม กลายเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่เกิดปัญหาเงินลงทุนไม่พอ หนีไม่พ้นกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมอีก

          ส่วนจะให้มีการทำงบประมาณปี 2559 ขาดดุลเพิ่ม เพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก็จะมีปัญหาทางกฎหมาย เพราะกรอบการพิจารณางบประมาณได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใน วาระแรกไปแล้ว หากมีการทำงบขาดดุล เพิ่มอาจจะต้องมีการนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้งบประมาณปี 2559 ใช้ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค. 2559 การแก้ปัญหาอาจได้ไม่คุ้มเสีย

          ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภัยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผ่านการใช้เงินงบประมาณปี 2559 ก็ดูจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ทันกับวิกฤตที่ก่อตัวขึ้น เพราะเงินงบประมาณปี 2559 กว่าจะเริ่มใช้ได้จริงคือ วันที่ 1 ต.ค. 2558 หรืออีกประมาณ 2 เดือนกว่า ถือว่านานเกินไป

          ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การใช้เงินจากธนาคารของรัฐเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจะรวดเร็วกว่า แล้วรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณมาใช้ในภายหลัง เหมือนกับที่รัฐบาลแจกเงินชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/ครอบครัว ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีการตั้งงบประมาณไว้ แต่ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายไปก่อนเป็นวงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท และตั้งงบประมาณปี 2559 มาใช้คืน  แต่สำหรับการแจกเงินชาวนาและชาวสวนยางรอบใหม่ รัฐบาลกลับกล้าๆ กลัวๆ ไม่ยอมสรุปว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย ทำให้มาตรการทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นอัมพาต เพราะมาตรการให้แบงก์รัฐพักชำระหนี้เกษตรกรก็เป็นการบรรเทาให้รายจ่ายลดลง แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

          นอกจากนี้ มาตรการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะภัยแล้งทำให้เกษตรกรเพาะปลูกไม่ได้ ในส่วนที่เพาะปลูกไปแล้วก็ได้รับความ เสียหาย เกษตรกรจึงไม่มีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อเพิ่มเพื่อไปทำการเพาะปลูก และการให้สินเชื่อยังเป็นการสร้างหนี้แทนการเติมรายได้เกษตรกร

          แม้ว่า รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เสนอมาตรการให้แจกเงินเกษตรกรให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งต้องใช้เงินถึง 2 หมื่นล้านบาท หากจ่ายเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง และต้องใช้เงินถึง 6 หมื่นล้านบาท หากจ่ายให้เกษตรกรทั้งหมดไม่ว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่รัฐบาลก็ออกมา บอกปัดมาตรการดังกล่าวว่ายังไม่ได้หารือ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เงินจากที่ไหน ทำให้การอัดเงินแก้ปัญหาภัยแล้งดูมืดมน เศรษฐกิจจึงดูไม่มีทางที่จะฟื้นตัวกลับมาได้

          ความล่าช้าในการอัดฉีดเงินช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของไทย เพราะหากไปดูการแจกเงินเกษตรกรปลายปี 2557 ที่ผ่านมา จากเดิมที่ต้องการแจกให้หมดภายในปลายปี 2557 แต่ทำไม่ได้ตามแผน ทำให้ปี 2557 เศรษฐกิจขยายตัวต่ำได้แค่ 0.7% ต่อปีเท่านั้น แต่เงินดังกล่าวที่มาแจกกันเป็นกอบเป็นกำได้ช่วงต้นปี 2558 และเป็นส่วนสำคัญให้การบริโภคขยายตัวได้สูง เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกกลับมาขยายตัวได้ถึง 3% ต่อปี

          นอกจากนี้ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอยังมองว่า การปล่อยให้ผลกระทบภัยแล้งยืดเยื้อออกไป ทำให้กำลังซื้อเศรษฐกิจฐานรากหมดแรง จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งทำได้ยากขึ้น

          การอัดฉีดเงินแก้ปัญหาภัยแล้งจึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ ลำพังการส่งออกที่ทรุดไม่มีทางแก้ เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ทำให้รัฐบาลปวดหัว พออยู่แล้ว หากการบริโภคต้องมาเครื่องดับเพราะปัญหาภัยแล้ง และเหลือแต่การ เบิกจ่ายภาครัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียว เห็นทีเศรษฐกิจไทยปีนี้จะต้องปรับการ ขยายตัวลงกันอีกหลายรอบ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 15 ก.ค. 58