เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เอลนีโญต้นเหตุ

          จิรัฐ เจนพึ่งพร เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอบทวิเคราะห์เรื่อง "ภัยแล้งครั้งนี้รุนแรงและเสี่ยงแค่ไหน?" มีประเด็นการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งขึ้นกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ดังนี้

          ปัญหาภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายในประเทศที่มีต่อการเติบโตของ เศรษฐกิจไทยในปีนี้ซึ่งอาจส่งผลกระทบ อย่างมากต่อรายได้และการใช้จ่ายของ เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มี จำนวนถึง 3.7 ล้านครัวเรือน ที่ส่วนหนึ่งประสบปัญหาน้ำในเขื่อนในปีนี้ไม่เพียงพอสำหรับ การปลูกข้าวนาปรัง  เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูนาปีน้ำในเขื่อนก็ถูกใช้ไปก่อนหน้าร่อยหรอไปมากแล้ว แม้ว่าระดับ น้ำในเขื่อนที่สะสมในปีนี้จะน้อยกว่าปีก่อนไม่มาก แต่ปัญหาสำคัญคือ มีภาวะฝน ทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่า ค่าปกติ ทำให้ชาวนาในเขตชลประทานซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นหนึ่งในสี่ของชาวนาทั้งหมดรอฝนไม่ไหวและต้องไปเอาน้ำที่แทบหมดเขื่อนแล้วมาใช้  ขณะที่ชาวนากลุ่มที่เหลือจำนวน 3 ใน 4 อยู่นอกเขตชลประทานไม่มีทางเลือกก็ต้องรอฝนกันต่อไป

          บทความนี้จะได้ชี้แจงให้เข้าใจว่าทำไมฝนถึงทิ้งช่วงในปีนี้และในระยะสั้นปัญหา ภัยแล้งในครั้งนี้จะรุนแรงเพียงใด รวมถึง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไร เมื่อมีคำถามว่าทำไมฝนทิ้งช่วงหรือ ทำไมถึงแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญมักจะเป็นคำตอบยอดนิยม ซึ่งในปีนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่นเคยว่าฝนที่ตกน้อยในเดือน พ.ค. เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญหรือสภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้จากอุณหภูมิผิวน้ำที่ร้อนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มก่อตัวระดับอ่อนขึ้นแล้ว โดยในปัจจุบันความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเข้าสู่ระดับปานกลางแม้ว่าค่าเฉลี่ย 3 เดือนยังอยู่ในระดับอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝนตกในเดือน พ.ค. ปีนี้น้อยลงมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน

          ในระยะถัดไป องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญอาจจะส่งผลยาวถึงปีหน้าทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลกันว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง

          อย่างไรก็ดีในขณะนี้ระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญยังอยู่ระดับต่ำกว่าระดับที่เคยทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงครั้งใหญ่ในอดีตปี 2541 และจากการศึกษาในอดีตถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญกับสภาวะฝนและอุณหภูมิของประเทศไทยพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกในประเทศไทย น้อยลงมากโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ต้นฤดูฝน เช่น ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา  แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางและปลายฤดูฝน อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญจะ เบาบางลง สังเกตได้จากปริมาณฝนทุกปี จะค่อยๆ ตกมากขึ้นไปจนสูงสุดในช่วง เดือน ส.ค.-ก.ย.
 

          ประกอบกับในปีนี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) คาดการณ์ว่าจะมีปรากฏการณ์ความแปรปรวนของอุณหภูมิผิวน้ำใน มหาสมุทรอินเดียและการเกิดคลื่นยักษ์ใน ขั้วโลกใต้ซึ่งจะหอบฝนจากลมมรสุมตะวันตก เฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาพร้อมกันโดยเข้าสู่ด้านตะวันตก ของประเทศไทย ทำให้คาดว่าจะช่วยให้มี ฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำฝนในระยะถัดไปน้อยกว่า ปีก่อนไม่มากนัก การประเมินความเสี่ยงของปัญหา ภัยแล้งต่อเศรษฐกิจไทยอาจประเมินได้ 2 กรณี คือ

          กรณีที่ 1  ไม่ต้องอาศัยน้ำในเขื่อนหากฝนกลับมาตกได้ในเดือน ก.ค. ผลกระทบ จากภัยแล้งที่ทำให้ข้าวนาปีบางส่วนเสียหาย เพราะขาดแคลนน้ำและชาวนาต้องเลื่อน การปลูกข้าวนาปีออกไปก็จะอยู่ในวงจำกัด โดยชาวนาสามารถกลับมาทำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวน่าจะลดลงประมาณ 5-10%

          กรณีที่ 2  หากมีฝนตกน้อยมากใน ครึ่งหลังของปีนี้และปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีความรุนแรงมากจนถึงระดับเดียว กับปี 2541 ซึ่งหากเป็นกรณีนี้บริษัท วานิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ Goldman Sachs ประเมินว่าภัยแล้งจะทำให้การ ขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงไป 0.5% เป็นผลจากการลดลงมากของผลผลิตทางการเกษตร

          โดยเฉพาะข้าวนาปีจะลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของเกษตรกรลดลงไปมาก ซึ่งในที่สุดจะส่งผล ต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโดยรวม

          ในปีนี้หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นคาดว่า ระดับความรุนแรงและผลกระทบของภัยแล้งมีแนวโน้ม น่าจะเป็นกรณีแรกมากกว่ากรณีหลังในท้ายสุด แม้ว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้อาจจะไม่รุนแรงมากเท่ากับระดับในอดีตที่เคยรุนแรงมากเช่นปี 2541 แต่หากพิจารณาแนวโน้มวงจรการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังปี 2550 พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดถี่ขึ้นเกือบทุกปีและส่งผลให้อากาศแปรปรวนมากกว่าในอดีต

          การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพ เกษตรกรรม และต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วย การอาศัยทรัพยากรธรรมชาติคือแหล่งน้ำ เป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูกและ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรมีทั้ง เพื่อการส่งออกและเป็นอาหารแก่ประชากรของประเทศ

          ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกัน แก้ปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างธรรมชาติและการพัฒนา เกษตรกรต้องเริ่มปรับตัว เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งในระยะยาว เช่น เลื่อนฤดูกาลเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศ ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชอายุสั้น ใช้พันธุ์พืชที่ทนแล้ง เปลี่ยนวิธีการให้น้ำและทำอาชีพเสริม เป็นต้น

          ขณะที่ภาครัฐก็ต้องส่งเสริมการ ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดัน การเพาะปลูกแบบโซนนิ่งให้เป็นรูปธรรมเพื่อก่อให้เกิดโครงสร้างการเพาะปลูกที่เหมาะสม และสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนคือ การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืนที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยภาครัฐ เกษตรกร และชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อจัดหา จัดสรร และจัดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 15 ก.ค. 58  หน้า 2