เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
วิกฤตน้ำทุบสินค้าเกษตร-นิคมอุตฯ ตั้งรับ

          งัดแผนฉุกเฉินสั่งลดระบายน้ำ "ภูมิพล-สิริกิติ์" เขื่อนอื่นให้หยุดปล่อย ยื้อเวลารอฝน 40 วัน อีสานอ่วม "ปักธงชัย-พิมาย-แก้งคร้อ" จ่ายน้ำ วันเว้นวันประปาภูมิภาควิกฤต กปน.แนะคนกรุงตุนน้ำดื่ม 1 เดือน จี้รัฐจ่ายชดเชยงดปลูกข้าวนาปี นิคมอุตฯกางแผนรับน้ำขาด

          หลังที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เวลาผ่านไป 1 เดือนก็ยังไม่มีฝนตกเหนืออ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลักของประเทศ ล่าสุดกรมชลประทานได้ออกมายอมรับว่าสถานการณ์น้ำเข้าขั้นคับขัน จากปริมาตรน้ำใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักในภาคเหนือตอนล่างต่อภาคกลาง ขณะนี้มีเพียงพอเฉพาะน้ำใช้อุปโภคบริโภค กับผลักดันน้ำเค็ม เท่านั้น ในขณะน้ำเพื่อการเกษตรจำเป็นต้องงดการจัดสรรให้ และขอให้ ชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาชะลอปลูกข้าวนาปี 2558/59 ออกไป

          ฝนไม่ตก เขื่อนหลักไม่ระบายน้ำ

          ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลฯ รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ 16 มิถุนายน 2558 ปรากฏเขื่อนภูมิพลเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้จริงแค่ 372 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% น้ำไหลเข้าอ่าง, เขื่อนสิริกิติ์ปริมาตรน้ำ 712 ล้าน ลบ.ม.หรือ 11.15% น้ำไหลเข้า 3.52 ล้าน ลบ.ม. รวม 2 เขื่อนมีปริมาตรน้ำ 1,084 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7% โดยกรมชลฯสั่งระบายน้ำลดลงจากเดิมที่เคยระบาย 60-65 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือ 31.03 ล้าน ลบ.ม./วัน     ส่วนเขื่อนหลักแห่งอื่นๆ แทบไม่มีการระบายน้ำออก เนื่องจากเหลือน้ำใช้การได้จริงน้อยมาก (รายละเอียดตามตาราง)

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรม ชลประทาน เปิดเผยว่า น้ำใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล- สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ขณะนี้เหลืออยู่ 1,257 ล้าน ลบ.ม. จากช่วงต้นฤดูที่มีน้ำใช้การอยู่ 3,800 ล้าน ลบ.ม. สาเหตุที่น้ำในเขื่อนทั้ง 4 ลดลงมากเพราะ กรมชลฯเริ่มปล่อยน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2558 โดย คาดว่าจะมีฝนตกเหนือเขื่อน แต่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำไหลลงอ่าง 4 เขื่อนหลักเพียง 240 ล้าน ลบ.ม. จากคาดการณ์ว่าจะมี 990 ล้าน ลบ.ม.

          "กรมชลฯจำเป็นต้องประกาศให้ชาวนา ชะลอทำนาปีอีกกว่า 4 ล้านไร่ไปถึงปลายเดือน กรกฎาคม ซึ่งกรมอุตุฯคาดว่าจะมีฝน โดยระบายน้ำวันละ 30-35 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 6-8 ล้าน ลบ.ม./วัน รักษาระบบนิเวศ 4-5 ล้าน ลบ.ม./วัน ปลูกข้าวนาปีที่เริ่มปลูกไปแล้ว 3.4 ล้านไร่

          40 วันฝนไม่ตก งัดน้ำฉุกเฉิน

          จากปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 1,257 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากไม่มีน้ำไหลเข้า "ยกเว้น" เขื่อนสิริกิติ์ (วันละ 3.52 ล้าน ลบ.ม.) หากคำนวณเฉพาะน้ำคงเหลือโดยไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน เขื่อนภูมิพลจะมีน้ำเหลือใช้การได้จริง 38 วัน เขื่อนสิริกิติ์ 30-40 วัน แควน้อยบำรุงแดน 50 วัน และป่าสักชลสิทธิ์ 46 วัน

          "กรมชลฯคำนวณไว้จะมีน้ำใช้การได้จริงอีก 40 วัน หากรวมน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน สิริกิติ์อีกวันละ 6-7 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้มีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นอีก 280 ล้าน ลบ.ม. ต่อลมหายใจจากปลายเดือนกรกฎาคมออกไป 10-15 วัน แต่เป็นไปได้ต่ำมากที่จะไม่มีฝนตกเลยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดังนั้นจะไม่วิกฤตถึงขั้นนั้น"

          นอกจากนี้กรณีเลวร้ายเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนยังมี "น้ำตาย (Dead Storage)" สามารถดึงมาใช้ฉุกเฉินได้ แต่ปกติจะไม่นำมาใช้เพราะเป็นพื้นที่รับตะกอนเขื่อน โดยเขื่อนภูมิพลมีน้ำตาย 3,800 ล้าน ลบ.ม. สิริกิติ์มี 2,850 ล้าน ลบ.ม. แควน้อยบำรุงแดนมี 43 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯมี 3 ล้าน ลบ.ม.

          ส่วนการระบายน้ำดันน้ำเค็มล่าสุดจุดเฝ้าระวังท่าน้ำกรมชลฯสามเสนมีค่าความเค็ม 2.99 กรัม/ลิตร จุดเฝ้าระวัง ท่าน้ำนนทบุรี 2.04 กรัม/ลิตร ทั้ง 2 จุด เกินค่ามาตรฐาน (ผลิตน้ำประปาต้อง ไม่เกินกว่า 0.25 กรัม/ลิตร) และ ปากคลองสำแล ปทุมธานี จุดสูบทำน้ำประปา ค่าความเค็มยังปกติที่ 0.18 กรัม/ลิตร กรมชลฯยังปล่อยน้ำผลักดันน้ำเค็มไหลผ่าน อ.บางไทร 80 ล้าน ลบ.ม./วินาที โดยใช้น้ำเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก

          ห้ามทัพชาวนาตีกันแย่งน้ำ

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่ศึกษาความต้องการเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ ประเมินไว้ 3 ทางเลือก 1) รอเพาะปลูกข้าวเมื่อฝนมาปลายเดือนกรกฎาคม 2) ปลูกพืชทดแทนที่ตลาดต้องการ 3) อาชีพเสริมอื่น "เราเป็นห่วงมากที่สุดคือการแย่งน้ำ จึงขอความร่วมมือ พี่น้องเกษตรกร ให้ช่วยกันไม่ปลูกข้าวเพิ่ม"

          ส่วนนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ในแง่ชดเชยเป็นเงินช่วยเหลือ ต้องรอให้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติก่อน เมื่อพืชผลเสียหายจริงจึงจ่ายเงินชดเชยได้ไร่ละ 1,113 บาท สอดคล้องกับที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป" เบื้องต้นจะจ่ายเงินชดเชยต้นทุนให้ไร่ละ 1,000 บาทเหมือนที่เคยจ่ายชาวนาและชาวสวนยาง แต่กำลังหาวิธีช่วยเหลือแบบอื่น ๆ ด้วย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนากว่า 500 คน ในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ประชุมร่วมกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติในการจัดสรรน้ำทำนา มีมติให้กรมชลฯปล่อยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นให้เพียงพอความต้องการ แบ่งรอบ ผลัดกันสูบน้ำคนละ 7 วัน โดยมีผู้นำท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลการผลัดรอบเวร ลดความขัดแย้งระหว่างชาวนาจากปัญหาการแย่งน้ำทำนา โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ปลูกข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตข้าวจะลดลงมากกว่า 50% จากการขาดน้ำส่วนการชดเชยค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจ่ายมา 1,000 บาทต่อตัน กำหนดให้รายละ 15 ไร่ ยังไม่เพียงพอ

          กปน.แนะคนกรุงตุนน้ำ 1 เดือน

          นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กปน.มีมาตรการลดการจ่ายประปาในช่วงหน้าแล้ง จากวันละ 5.4 ล้าน ลบ.ม.เหลือวันละ 5.2 ล้าน ลบ.ม. ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์วิกฤตน้ำประปา มั่นใจว่าสามารถให้บริการ น้ำประปาอย่างเพียงพอในพื้นที่บริการ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ

          "น้ำดิบหรือน้ำต้นทุนในการผลิตประปายังมีเพียงพอ แต่ไม่ได้ประมาท เริ่มลดการผลิตและการจ่ายน้ำแล้ว ช่วงกลางคืนที่เคยจ่ายน้ำเยอะก็จ่ายน้อยลง ลดแรงดันน้ำลง กลางวันตอนเช้าและเย็นจ่ายปกติ"

          ล่าสุดการประปาแนะนำถ้าประชาชนกังวลปัญหาน้ำดื่มให้สำรองน้ำครอบครัวละ 60 ลิตร ซึ่งเพียงพอต่อการดื่ม 1 เดือน

          ประปาภูมิภาควิกฤต 9 สาขา

          นายธนัช ศิริเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ทีทีดับบลิว กล่าวว่า เฝ้าระวัง สถานการณ์ภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนอย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้ส่งเจ้าหน้าวัดค่าคลอไรด์ในน้ำวันละ 3 เวลา มั่นใจว่าจะรับมือได้ เพราะปริมาณน้ำดิบสำรองยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ปริมาณที่มาก

          ขณะที่นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ การประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันมี กปภ. 9 สาขา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คือ กปภ.สาขาปักธงชัย จ.นครราชสีมา หน่วยบริการห้วยแถลงและหน่วยบริการเมืองคง กปภ.สาขาพิมาย กปภ.สาขาเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กปภ.สาขาแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กปภ.สาขากระนวน จ.ขอนแก่น กปภ.สาขาหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กปภ.สาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หน่วยบริการไพศาลี กปภ.สาขาท่าตะโก และหน่วยบริการ ลืออำนาจ กปภ.สาขาอำนาจเจริญ โดยต้อง แบ่งจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลาหรือจ่ายวันเว้นวัน แต่หน่วยบริการลืออำนาจ ต้องงดจ่ายน้ำแล้วใช้รถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำแทน

          นิคมตั้งรับใช้น้ำบาดาล/น้ำฝน

          นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการ สายงานปฏิบัติการ 2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามประกาศพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง 29 จังหวัดในขณะนี้ยังไม่มี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่ กนอ.เป็นห่วง ประกอบกับได้สั่งการให้รองผู้ว่าการ กนอ.ติดตามสถานการณ์และลงพื้นที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับปทุมธานี ที่มีนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (มีระบบน้ำ/ แหล่งน้ำกักเก็บไว้ใช้งานได้ 6,000 ลบ.ม.)นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (มีบ่อบาดาล/บ่อกักเก็บน้ำใสที่ผ่านการบำบัดของตัวเอง รองรับน้ำได้ 13,000 ลบ.ม.)-นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ได้ทดลองนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อเตรียมรับมือการขาดน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมไว้แล้ว

          "ในช่วง 4 เดือน (เมษายน-สิงหาคม 2558) หากพบว่าปริมาณน้ำเจ้าพระยาลดลงหรือต่ำกว่าปกติ จะต้องเตรียมความพร้อมและบ่อบาดาลพร้อมใช้ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเกิดการขาดแคลนน้ำจริง ๆ คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโรงงานผลิตแผงวงจรต่าง ๆ เราก็ต้องเตือนเป็นกรณีพิเศษ"

          ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ไม่ได้กังวลเรื่องของภาวะภัยแล้ง เนื่องจากนิคมมีแหล่งน้ำ โรงผลิตน้ำไว้ใช้อยู่แล้ว ในกรณีที่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลง นิคมอุตสาหกรรมก็จะนำน้ำจากแหล่งน้ำและน้ำประปามาใช้ อย่างในนิคมอุตสาหกรรมปริมาณการใช้น้ำประปาเฉลี่ย 50,000-100,000 คิว/วัน ที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อใช้เอง

          ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมน้ำดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตน้ำเกลือใช้ในโรงพยาบาลและของเหลวที่ใช้ทางการแพทย์

          รง.เครื่องดื่มไม่กระทบ

          นายทนุ เนาวรัตน์พงษ์ รองกรรมการ ผู้จัดการ บจ. ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำผัก, น้ำผลไม้, น้ำผลไม้รวม, ชา กาแฟ แบรนด์ยูนิฟ, ยูนิฟ กรีนที ฯลฯ เปิดเผยว่า จากการประชุมกับโรงงานผลิตยังไม่ได้รับรายงานถึงผลกระทบจากภัยแล้ง เนื่องจากใช้แหล่งน้ำเพียงพอ ต่อการผลิต

          เช่นเดียวกับที่แหล่งข่าวจากบริษัทเสริมสุข ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล และนางสาวพิชชา ประกายเลิศลักษณ์ ผจก.ฝ่ายการตลาด บจ.กินกันตัน ในเครืออิชิตันกรุ๊ป ที่ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงในการผลิตเครื่องดื่ม และเตรียมตัวรับสถานการณ์แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 2558  หน้า 13