เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
นับถอยหลังสู่วันพิพากษาคดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์

          การนัดสืบพยานจำเลย 42 ปาก 16 นัดในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีปล่อยปละไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนรัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท งวดเข้ามาเป็นลำดับแล้ว

          ในรอบปี 2560 นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งนัดไต่สวนพยานจำเลยต่อเนื่องอีก 6 นัด  โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาเป็นนัดที่ 12 ส่วนการนัดไต่สวนวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ให้เลื่อนนัดมาเป็นวันที่ 16 มิถุนายนตามที่นัดไว้เดิม และเพิ่มนัดวันที่ 19 มิถุนายน 2560

          จากนั้นจะเหลือนัดไต่ สวนพยานจำเลยอีกเพียงแค่ 2 นัดในเดือนถัดไป คือ วันที่ 7 และ 21 กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นนัดไต่ สวนพยานวันสุดท้าย ตามที่ศาลได้เคยขีดเส้นกำหนดเวลาไว้ ว่าให้ฝ่ายจำเลยบริหารเวลาให้อยู่ในกรอบดังกล่าว

          ขั้นตอนถัดไปต้องรอฟังว่า ศาลจะอนุญาตให้นำพยานที่ถูกตัดออกในรอบแรก ซึ่งมีพยานโจทก์ 3 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก เข้าไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ หากไม่มีคำสั่งก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการแถลงปิดคดีของโจทก์และจำเลย และรอวันศาลนัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคำพิพากษาคดีนี้ได้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

          ช่วงนี้จึงเป็นระยะนับถอยหลังสู่การชี้ขาดคดีประวัติศาสตร์รับจำนำข้าว

          ส่วนคดีระบายข้าวจีทูจี ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 รายเป็นจำเลยนั้น ก็เดินหน้าตีคู่กันมา ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนพยานจำเลย 10 นัดที่เหลือภายในปี 2560 นี้เช่นกัน

          โดย 5 นัดสุดท้ายคือ เดือนมิถุนายน 2 นัดในวันที่ 14 และ 28 มิถุนายน ส่วนเดือนกรกฎาคมอีก 3 นัด ในวันที่ 5 วันที่ 12 และวันที่ 19 กรกฎาคม เป็นนัดสุดท้าย

          และเป็นที่คาดหมายว่า การนัดอ่านคำพิพากษาศาลในคดีนี้ก็น่าจะอยู่ในกรอบเวลาใกล้เคียงกับคดีรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ คือในช่วง เดือนกันยายนนี้เช่นกัน

          จากนี้ไปจึงเป็นช่วงนับถอย หลังสู่การชี้ขาด 2 คดีใหญ่ที่น่าระทึก เกี่ยวเนื่องโครงการรับจำนำข้าว

          อย่างไรก็ตาม ที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ พอจะเบาใจ ได้อยู่บ้างก็คือ มาตรา 195 รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้นั้น วรรคสี่ระบุว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา

          และระบุต่อว่า ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาใน ศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน และได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 9 คน โดยให้เลือกเป็นรายคดี และคำวินิจฉัยขององค์คณะให้ถือเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

          นั่นคือ หากจำเลยถูกพิพากษาว่ากระทำผิดตามฟ้อง ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่บังคับใช้แล้ว อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรงและพวก ยังสามารถอุทธรณ์สู้คดีได้อีกรอบ

          แต่ที่เดินหน้าไปแล้วคือ คำสั่งทางปกครองเรียกให้ชดใช้ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ 1,768.9 ล้านบาท นายภูมิ สาระผล 2,242.5 ล้านบาท และนายมนัส สร้อยพลอย นายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ทีปวัชระ หรือ ช่วยเกลี้ยง และทิฑัมพร นาทวรทัต คนละ 4,011.5 ล้านบาท เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ผู้ถูกเรียกให้ชดใช้สินไหมทดแทนได้ฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำขอคุ้มครองฉุกเฉินให้ระงับการยึดอายัดทรัพย์ระหว่างรอคำพิพากษาทางอาญานั้น ศาลปกครองสั่งยก หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องจึงเดินหน้าการยึดอายัดทรัพย์ตามขั้นตอนอยู่ในเวลานี้


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 2560
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง