เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ยางสังเคราะห์ล้นโลก 4 ล้านตัน กดราคายางไทยร่วง-จนตุน 5.5 แสนตันชะลอนำเข้า

          บิ๊กเครือข่ายยางชี้เหตุหลักราคายางรูด จากยางสังเคราะห์ทั่วโลกยังค้างสต๊อก 4 ล้านตันตัวกดราคายางธรรมชาติไม่โงหัว บิ๊กสมาคมยางฯระบุตลาดเซี่ยงไฮ้-ชิงเต่าของจีนตุนสต๊อกใกล้เต็มพิกัดชะลอนำเข้า กยท.ปฏิเสธลั่นบียูบริษัทลูกกดราคาซื้อต่ำกว่า 5 เสือ

          จากราคายางพาราในประเทศที่ปรับตัวลดลงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ย 15 บาท/กก. ทาง 9 องค์กรด้านยางพาราได้มีการประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาเรียกร้อง 4 ข้อ ส่วนหนึ่งได้ให้เวลาการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)หน่วยงานกำกับดูแลยางพาราของประเทศ 10 วันในการแก้ไขปัญหาดันราคายางให้สูงขึ้นนั้น

          นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โดยระบุสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้ราคายางพาราลดลงอย่างผิดปกติ เชื่อตามข้อมูลของทางการของมาเลเซียที่ได้วิเคราะห์ว่า ในปี 2559 ทั่วโลกมีการผลิตยางสังเคราะห์หรือยางเทียมรวมประมาณ 14 ล้านตัน ใช้ไป 10 ล้านตันยังเหลือสต๊อกอีกประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งยางสังเคราะห์นี้สามารถใช้ทดแทนกันได้และเป็นตัวกดราคายางธรรมชาติไม่ให้สูงขึ้น

          "ทาง กยท.มักจะกล่าวเป็นสูตรสำเร็จว่าราคายางที่ลดลงเป็นผลจากตลาดล่วงหน้าได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินบาทแข็งค่า จากราคาน้ำ มันในตลาดโลกที่ลดลงทำให้ราคายางลดลงตาม  แต่ส่วนตัวเชื่อสาเหตุสำคัญจากสต๊อกยางสังเคราะห์ของโลกยังมีมาก นอกจากนี้เป็นผลจาก กยท.บริหารจัดการในการระบายสต๊อกยางได้ในราคาต่ำ และ 6 ตลาดกลางที่กยท.บริหารมีการกดราคาซื้อยางจากเกษตรกร ทั้งนี้ทาง 9 องค์กรจะหารือกันอีกครั้งในเรื่องการเสนอแนวทางการปฏิรูปกยท.ในวันที่ 19 มิถุนายน ก่อนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 มิถุนายนนี้"

          ด้านนายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางลดลงมากผิดปกติ ส่วนหนึ่งผลจากราคายางธรรมชาติปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน จากนักลงทุนในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าเทรดซื้อขายยางลดลงจากการขาดความเชื่อมั่น รวมถึงบาทแข็งค่าก็มีส่วนทำให้ราคายางส่งออกสูงขึ้น คู่ค้าชะลอซื้อ นอกจากนี้เป็นผลจากจีนผู้ใช้วัตถุดิบยางพารารายใหญ่ได้มีการนำเข้ายางไปเก็บสต๊อกแล้วปริมาณมากทำให้มีความต้องการนำเข้าลดลง

          "ตลาดยางแหล่งใหญ่ในจีน 2 แหล่งคือที่เซี่ยงไฮ้เวลานี้ซื้อไปสต๊อกแล้วกว่า 3 แสนตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแล้วที่เขาเคยนำเข้า ส่วนที่ชิงเต่า เคยนำเข้าสต๊อกสูงสุด 3.5 แสนตัน เวลานี้ซื้อไปเก็บสต๊อกแล้วกว่า 2.5 แสนตัน รวม 2 แหล่งตุนสต๊อกแล้ว 5.5 แสนตัน ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลง"

          แหล่งข่าวจากวงการค้ายาง กล่าวถึงกรณีราคายางมีทิศทางขาลง ส่วนหนึ่งจากกระแสข่าวลวง ทั้งคุณภาพยางของเกษตรกรไม่ดี บริษัทยางล้อรถญี่ปุ่นในประเทศไม่รับซื้อแล้วยังมีข่าวว่า บียู (Business Unit: BU) หรือหน่วยธุรกิจ กยท. ได้ซื้อยางจากเกษตรกรในราคาต่ำกว่า 5 ผู้ค้ายางรายใหญ่ของประเทศ จึงทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องซื้อต่ำลงมาเรื่อยๆ ต่อประเด็นนี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการกยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ขอถามกลับว่าใครกันแน่ที่ปล่อยข่าวทำให้ราคายางพาราตกต่ำลง ขอให้เกษตรกรใช้วิจารญาณให้ดี

          "บียู เพิ่งเริ่มตั้งไม่นาน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบ อยู่ในกยท.เพิ่งเริ่มตั้งก่อตั้งตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ เพราะต่อไปกยท.ต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น และมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่ายังมีข้อกฎหมายที่ยังขาดความคล่องตัว ต่างจากบริษัทเอกชน ต้องใช้ระยะเวลาอีกเล็กน้อยที่จะมีการปรับตัว"


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 2560
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง