เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ห้องสมุดสีเขียวลดร้อน จุดประกายเรียนรู้ดูแลโลก

          พงษ์พรรณ บุญเลิศ

          แม้ได้ชื่อว่าเป็น "ห้องสมุด" แต่อีกแง่มุมหนึ่งนอกเหนือจากบรรยากาศการอ่าน การยืมหนังสือ เป็นคลังข้อมูล แหล่งค้นคว้า... ที่นี่ยังเป็นต้นทางสร้างความตระหนัก ส่งต่อความร่วมมือ ร่วมกันลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืนในการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังให้ ไอเดียการสร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าสิ่งของเหลือใช้ นำสิ่งของที่มองว่าเป็นขยะกลับมาใช้ใหม่ แปลงโฉมเป็นงานดีไซน์เก๋ไก๋ มีเสน่ห์...

          ที่นี่..."ห้องสมุดสีเขียว"ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พาสัมผัสการให้บริการห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมให้รายละเอียด เล่าถึงที่มาของ "ห้องสมุดสีเขียว" ว่า ห้องสมุดสีเขียว ที่เรียกกันเช่นนี้ไม่ใช่แค่บรรยากาศความร่มรื่น แต่เป็นห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านพลังงาน เรื่องการอนุรักษ์และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่มีมาตรฐาน เกณฑ์การวัดกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักหอสมุด มก. ร่วมกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เครือข่ายห้องสมุดสีเขียว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หลายหน่วยงาน ระดมความคิดพัฒนามาตรฐานห้องสมุดสีเขียวนี้ขึ้น

          "ห้องสมุด คือสถานที่ที่ให้ความรู้ ซึ่งห้องสมุดมหาวิทยาลัยเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการมาก อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ละปีมีไม่น้อยกว่า1.5-1.6 ล้านคน และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้ทำให้ห้องสมุดใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ใช้พลังงานมาก

          แม้การใช้พลังงานมากก็มีเหตุผลของการใช้ แต่ทั้งการเปิดแอร์ ใช้พลังงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอีกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของเสียในห้องน้ำ ขยะของเสียที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อม ล้วนแต่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ห้องสมุด สถานที่ที่เป็นหน่วยบริการความรู้ จึงควรต้องมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริม สร้างความตระหนักการรู้ใช้พลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยเช่นกัน"ดร.อารีย์ เพิ่มเติมอีกว่า มองจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นี่ยังคงได้รับการตอบรับจากนิสิต เข้ามาค้นคว้า นั่งอ่านหนังสือกันมาก แม้ว่าจะมีการให้บริการแบบออนไลน์ก็ตาม และเมื่อห้องสมุดเปิดให้บริการจึงไม่อาจหลีกหนีการใช้พลังงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ที่นี่ก็มีแนวทางลดการใช้พลังงานลง เพื่อให้มีของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และด้วยห้องสมุดสามารถมีบทบาทสำคัญ กระจายความรู้ในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม จึงมีการปลูกฝังส่งเสริมความตระหนักรู้ให้กับผู้เข้ามาใช้บริการในห้องสมุดได้ร่วมซึมซับ

          "กระตุกปิดไฟ" ปิดสวิตช์ที่ให้แสงสว่างเมื่อเสร็จสิ้นการอ่านหนังสือทุกครั้ง เป็นหนึ่งในการปลูกฝังการรู้ใช้พลังงาน อีกทั้งยังปลูกฝังผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และทุกพื้นที่ของห้องสมุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลังงาน สำหรับบริเวณชั้น 4 ซึ่งเป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือตามอัธยาศัย ในชั้นนี้จะติดไฟกระตุกไว้ทั้งชั้น ถ้าจะใช้ไฟก็กระตุกเปิดไฟขึ้น เมื่ออ่านหนังสือเสร็จก็กระตุกปิด โดยที่ไม่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้ทั้งชั้น เป็นการใช้ไฟเฉพาะพื้นที่

          ในส่วนนี้ก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ดีห้องสมุดที่นี่ยังมีพื้นที่ส่งเสริมการอ่านที่ใกล้ชิดกับต้นไม้ ธรรมชาติ มี ห้องสมุดในสวน ที่เป็นอีกพื้นที่ลดการใช้พลังงาน ขณะที่ ถังขยะ ที่มีกระจายอยู่ก็ มีช่องคัดแยก สิ่งที่นำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ก็จะนำกลับมาใช้ มีป้ายรณรงค์ขอความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือที่ดี หรือแม้แต่บันไดเชื่อมต่อแต่ละชั้นก็จะมีข้อมูลแสดงถึงการใช้พลังงาน

          มุมให้ความรู้การอนุรักษ์พลังงาน ในมุมนี้ก็จะมีข้อมูลเผยแพร่ ซึ่งนอกจากข้อมูลพื้นฐานก็ยังมีฐานข้อมูลทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม มีหนังสืออ่านเล่นทั่วไปที่เกี่ยวกับพลังงาน สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีหนังสือวิชาการสำหรับการค้นคว้า อ้างอิง สามารถหาความรู้จากหนังสือเหล่านี้ได้ หรือแม้แต่ในห้องน้ำก็จะมีความรู้ แนะนำเทคนิควิธีการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า หมุนเวียนให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ

          แม้จะเป็น "ห้องสมุด" เป็นหน่วยบริการ แต่ที่นี่ก็มีความตั้งใจส่งต่อความร่วมมือช่วยกันลดโลกร้อน โดย ดร.อารีย์ เพิ่มเติมอีกว่า ทางหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่านหนังสือยั่งยืน นอกจากอ่านในหอสมุด ยังมีโครงการอ่านทุกที่ใน มก. (Read @ KU) ไม่ว่าจะเป็นหอพักนักศึกษา โรงอาหาร ฯลฯ รวมถึงจุดพักรอรถในมหาวิทยาลัย จะมีชั้นหนังสือจัดวางไว้ให้เลือกระหว่างรอ การยืม คืนหนังสือ ก็สะดวก คืนที่ป้ายใดก็ได้

          "ชั้นหนังสือที่นำไปตั้งวางยังมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นชั้นหนังสือที่ทำขึ้นจากเศษวัสดุ สิ่งของเหลือใช้ อย่างที่บริเวณจุดพักรอรถ เป็นชั้นหนังสือจากโครงไฟเพดานที่ไม่ใช้แล้ว โดยแทนที่จะทิ้งขายเป็นเศษเหล็ก ก็นำมาออกแบบดัดแปลงทำเป็นชั้นหนังสือ ซึ่งให้คุณสมบัติที่ดี ทนแดดฝน เป็นชั้นหนังสือต้นแบบ เป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีโต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ที่เป็นต้นแบบแสดงถึงการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือใช้มากมาย ลดการเกิดขยะที่จะเพิ่มภาระต่อไป โดยส่วนนี้บูรณาการผสานความร่วมมือกับคณาจารย์ในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย"

          Eco-Library ห้องสมุดรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ผ่านสื่อความรู้ และการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว เป็นอีกพื้นที่ที่จะเติมต่อการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน โดยห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อาคารหลังเดิม นับแต่ทางเข้า สะดุดตากับตู้บัตรรายการเก่าที่ยังคงมนต์เสน่ห์ในบรรยากาศห้องสมุด ที่จัดวางเข้ากับพื้นที่ โดยด้านในออกแบบตกแต่งโดยนำครุภัณฑ์เก่า วัสดุเหลือใช้ เศษวัสดุ แปลงโฉมจัดทำเป็น ชั้นวางหนังสือ โคมไฟ เก้าอี้ โต๊ะ ฯลฯ สวยงามและลงตัว อย่าง หมอนมะเฟือง ทรงสวย สร้างสรรค์จากเศษผ้าม่านที่เหลือจากการตัดเย็บ โซฟา ใช้เศษผ้าตัวอย่างมาต่อเป็นผืนผ้านำไปใช้หุ้มเบาะ ชั้นหนังสือ สร้างสรรค์จากเศษไม้ที่เหลือจากการจัดบูธนิทรรศการ

          ที่แปลกตา คาดเดาไม่ถูกกันเลยทีเดียว ก็คือ หน้าทอปเคาน์เตอร์ ซึ่งให้ทั้งความสวยงามและให้ความแข็งแรง โดยสร้างสรรค์ขึ้นจากเศษกระดุม นำมาอัดขึ้นรูปใหม่ นอกจากนี้ยังมีเก้าอี้ ผ้าม่าน โคมไฟ ฯลฯ ที่เป็นแบบอย่างให้ไอเดียการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ใหม่อย่าง คุ้มค่า อีกทั้งมีพื้นที่ มีมุมอ่านหนังสือ มุมสำหรับเด็ก ในบรรยากาศการเรียนรู้รวมถึงยังมีหนังสือหลากหลายส่งต่อความรู้ให้ความผ่อนคลาย โดยให้บริการทั้งแก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป

          "ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ภัยแล้ง หรือแม้แต่น้ำท่วมที่นับวันจะทวีความรุนแรง...ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนแต่เกิดจากผล กระทบที่มีต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม...การตระหนักรู้ ร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้นี้มีความสำคัญที่ต้องช่วยกัน!..."

          ดร.อารีย์ ทิ้งท้ายอีกว่า ห้องสมุดทุกแห่ง ไม่ว่าจะห้องสมุดขนาดเล็กหรือใหญ่ ห้องสมุดในมหาวิทยาลัย โรงเรียน หมู่บ้าน หรือห้องสมุดในองค์กร ทุกที่เป็นคลังความรู้ และเป็นได้มากกว่าห้องสมุดทั่วไป ในการที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ พร้อม ๆ ไปกับการดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ร่วมกันเป็น "ห้องสมุดสีเขียว" ช่วยลดภาวะโลกร้อน

          ...ยิ่งช่วงเวลานี้อากาศร้อนอบอ้าวมาก ๆ ก็ยิ่งเป็นจังหวะดีในการพักผ่อนหลบร้อน พร้อม ๆ ไปกับการได้รับความรู้เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน ใน "ห้องสมุดสีเขียว" ที่ "เป็นมากกว่าห้องสมุด".

          "มีความสำคัญที่ต้องช่วยกัน!"


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 2 พฤษภาคม 2560  หน้า 4
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง