เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
บูมทัวร์ 46 สวนผลไม้ระยอง-จันทบุรี-ตราดคิวแน่นเอี้ยดเดือนพฤษภา ททท.แนะจองล่วงหน้า-งดวอล์กอิน

          เปิดฉากฤดูเที่ยวสวนผลไม้ตะวันออกสุดคึกคัก 46 สวนผลไม้ระยอง จันทบุรี ตราด ร่วมโครงการ นักท่องเที่ยวแห่จองคิวแน่นเดือนพฤษภาฯ ททท.แนะนักท่องเที่ยวจองล่วงหน้า งดวอล์กอิน สวนเล็กงดกินไม่อั้น หันปรับเงื่อนไข คิดเป็นอิ่มละ 150-350 บาท ขณะที่ สวนใหญ่ขยับราคาหัวละ 450 บาท

          เปิด 46 สวนผลไม้รายได้พุ่ง 20%

          นางสาวกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง (ระยอง จันทบุรี) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวจังหวัดระยองจันทบุรี ยังคงจัดงานเปิดสวนผลไม้ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีสวนผลไม้ที่เข้าร่วม คือ จังหวัดระยอง 19 สวน จังหวัดจันทบุรี 16 สวน บางสวนเริ่มเปิดแล้ว แต่ส่วนมากจะเปิดให้เข้าในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งแต่ละสวนมีเงื่อนไขแตกต่างกัน บางสวนทำเป็นบุฟเฟต์ บางสวนให้เข้าชมปกติ แต่สามารถซื้อผลผลิตภายในสวนได้ ค่าใช้จ่าย มีตั้งแต่หัวละ 300-450 บาท อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีปัญหาว่าบางสวนมีนักท่องเที่ยวทะลักถึงวันละ 3-4 พันคน ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเช็กข้อมูลจากสวน และจองล่วงหน้า เพื่อการเตรียมพร้อมในการรองรับ

          ข้อมูล ททท.ระยองระบุว่า โดยช่วงปี 2559 (เมษายน- กรกฎาคม 2559) จังหวัดระยอง มีจำนวนนักท่องเที่ยว 208,400 คน รายได้จากการเข้าสวนผลไม้ประมาณ 62 ล้านบาท จังหวัดจันทบุรี มีจำนวนนักท่องเที่ยว 50,000 คน รายได้ 15 ล้านบาท ส่วนช่วงฤดูผลไม้ปี 2560 มีกระแสตอบรับดี คาดว่าจะจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20%

          ด้านนางสาววรรณประภา สุขสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราดกล่าวว่า ททท.ตราดสนับสนุนกิจกรรม "ตราด..อร่อยทุกไร่ชิมไปทุกสวน" ปีนี้เป็นปีที่ 3 จัดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน โดยในปีนี้มีสวนเข้าร่วม 11 สวน เป็นสวนเกาะช้าง 3 สวน และบนฝั่ง 8 สวน มีไฮไลต์ คือ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง สำหรับค่าเข้าสวนจังหวัดตราดมีข้อตกลงร่วมกันในราคาหัวละ 150 บาท โดยเจ้าของสวนจะจัดตะกร้าผลไม้ให้คนละ 1 ใบ เป็นผลไม้ผสมทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด หรือ ลองกอง และหากใครต้องการซื้อเพิ่มสามารถเลือกซื้อผลไม้คุณภาพกลับบ้านได้ในราคาถูกกว่าแผงข้างทางแน่นอน คาดว่าช่วงฤดูผลไม้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน รายได้การท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 500 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้ 200 ล้านบาท

          ปรับค่าเข้าสวนเมืองจันท์-ระยอง

          นางนงลักษณ์ มณีรัตน์ ประธานชมรม สวนผลไม้เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ตนและชาวสวน 4-5 สวน ได้รวมตัวกัน เป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ เปิดรับนักท่องเที่ยวมานาน 12 ปีแล้ว ปัจจุบัน ผลไม้มีราคาแพงขึ้น จึงเปลี่ยนการขายจากคำว่าบุฟเฟต์ เป็น อิ่มละ 300-350 บาทแทน เนื่องจากทุเรียนแต่ละลูกมีต้นทุนสูง ตั้งแต่ปลูกจนถึงตัดมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ที่ผ่านมาบางสวนเจอนักท่องเที่ยวไปถล่มเราก็สงสาร โดยปีนี้จะมีผลไม้ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด รับรองได้ว่าคนที่มาต้องประทับใจ เพราะทุเรียนที่คัดไว้เป็นทุเรียนคุณภาพ รสชาติดี แต่มีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวต้องโทรมาจองก่อนล่วงหน้า รับได้ไม่เกินวันละ 200 คน เพราะต้องเตรียมทุเรียนก่อน ไม่ใช่ตัดแล้วกินได้เลย แต่ต้องใช้เวลาบ่ม 3-4 คืนและ นอกจากจะได้กินผลไม้อร่อยแล้ว เราจะพาชมสวนและบรรยาย และสามารถซื้อผลไม้กลับบ้านได้

          นายธิร ลาภพิเชฐ ผู้ดูแลสวนทิพย์ธารา ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า เริ่มเปิดให้บริการบุฟเฟต์ผลไม้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ยาวต่อเนื่อง 90 วัน โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจต้องโทรศัพท์จองล่วงหน้า ไม่รับนักท่องเที่ยวแบบ วอล์กอิน ซึ่งขณะนี้มียอดจองเข้ามาจำนวนมาก จนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม โดยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพียง 100-150 คน/วัน คิดราคา 450 บาท/คน สามารถกินได้ไม่จำกัดปริมาณและเวลา โดยปีนี้ราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 50 บาท เนื่องจากผลผลิตมีราคาสูงขึ้น

          ทั้งนี้จุดเด่นของที่สวนภูทิพย์ธาราคือ เป็นสวนผลไม้อินทรีย์ และกำลังจะทำเรื่องให้เป็นสวนออร์แกนิก รวมถึงไฮไลต์ คือ สละพันธุ์สุมาลี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดผลไม้ สละพันธุ์สุมาลี งานจันทบุรี มหานครผลไม้ ประจำปี 2559 นอกจากจะเปิดให้บริการบุฟเฟต์แล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำสวนเป็นเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ให้ความรู้ในการดูแลสวนผลไม้ การสาธิตการทำสวน สอนการทำปุ๋ยหมักใช้เอง เป็นต้น

          นายขจร พฤฒิสุขนิรันดร์ เจ้าของสวนบ้านเรา ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง เปิดเผยว่า จุดเด่นของเราอยู่ที่คุณภาพผลไม้ที่นำมาบริการเป็นเกรดพรีเมี่ยม นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจจะต้องโทรศัพท์เข้ามาจองเท่านั้น คิดราคา 400 บาท/คน ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่คิดราคาอยู่ที่ 350 บาท เนื่องจากผลผลิตมีราคาสูงขึ้น ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ดีมานด์และซัพพลายของตลาด ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวโทร.เข้ามาจำนวนมาก โดยกว่า 90% เป็นชาวไทย และอีก 10% เป็นชาวต่างชาติ

          นอกจากบุฟเฟต์ผลไม้แล้ว สวนบ้านเราจะมีบริการรถรางนำเที่ยวชมสวนด้วย ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ และจะมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เรามีกว่า 100 สายพันธุ์ ขณะเดียวกันได้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะต้องสั่งจองล่วงหน้า โดยจะกำหนดการสั่งซื้อครั้งละ 10 กิโลกรัม บวกค่าขนส่งด้วยบริษัทขนส่งเคอร์รี่อีก 250 บาท ขณะนี้ราคาทุเรียนพันธุ์พวงมณีราคา 150 บาท/กก. ส่วนพันธุ์หมอนทองยังไม่มีผลผลิตออกมา

          ไฮไลต์ตราดกินชะนีเกาะช้าง

          นายไพฑูรย์ วานิชศรี เจ้าของสวนไพฑูรย์ อ.เขาสมิง จ.ตราด กล่าวว่า สวนเปิดรองรับนักท่องเที่ยวมาเป็นปีที่ 7 แล้ว ปีนี้ผลไม้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนแล้ว และจะปิดสวนเดือนมิถุนายน สนนราคาอิ่มละ 150 บาท ทุเรียนที่ให้ชิมเป็นหมอนทอง ราคาตลาดในขณะนี้ 70-80 บาท หากใครจะซื้อกลับบ้านยังมีพันธุ์อื่น ๆ จำหน่ายในราคาถูกกว่าแผงค้าริมทางด้วย เช่น พวงมณี 80 บาท/กิโลกรัม ชะนี 50-60 บาท นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางวอล์กอิน เข้ามาได้ทุกวัน ได้ทั้งคนไทย ต่างประเทศ หรือชาวจีน หากเป็นหมู่คณะควรประสานกับ ททท.มาก่อน โดยปีที่ผ่านมาเปิดรับเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คน ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%

          ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เอมดวง เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ผลไม้ของจังหวัดตราดมีจุดเด่นที่ความอร่อยและมีคุณภาพ หากนักท่องเที่ยวเข้ามาชิมในสวนจะสัมผัสได้ถึงความสด หอมหวาน หากเป็นทุเรียนเนื้อจะเหนียว หวานมัน ไม่เละหรือมีกลิ่นฉุน ซึ่งหลายสวนเป็นสวนอินทรีย์ และเป็นสวนมาตรฐาน GAP ส่งออก เช่น สวนคุณไพฑูรย์ วานิชศรี สวนผลอำไพ และอีกหลายสวนที่ส่งผลไม้ขึ้นห้างโมเดิร์นเทรด เดอะมอลล์ โลตัส นอกจากนี้ทุเรียนชะนีเกาะช้างที่เลื่องชื่อที่ต้องมากินที่เกาะช้าง ที่มีคุณประโยชน์ด้านสุขภาพ มีวิตามินอี สารไอโอดีนกำลังได้รับความนิยมมาก หาซื้อ ได้ในราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 - 3 พ.ค. 2560  หน้า  22, 23

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง