เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
กระบี่...ลุยปั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เติมเต็มทัวร์กระแสหลัก Sea Sand Sun

          ภาคการท่องเที่ยวกลายมาเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่การท่องเที่ยวเมืองไทยก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่และบางกลุ่ม แม้จะมีความพยายามกระจายไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชนต่าง ๆ ซึ่งการท่องเที่ยว "โดยชุมชน" กับการท่องเที่ยว "ชุมชน" แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

          ปัจจุบันผู้ประกอบการท่องเที่ยวในกระแสหลัก จะพานักท่องเที่ยวมาเที่ยวในชุมชน มาดูวิถีชีวิต ดูการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการไปเที่ยวชมชุมชน รายได้ ส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือผู้ประกอบการ แต่การท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ การที่ชุมชนลุกขึ้นมาบริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวชุมชนเอง ซึ่งโมเดลนี้ทำได้ยาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ

          "ชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์" นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ อธิบายเรื่องนี้ว่า ในช่วงแรก ๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน หลายชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาจัดการการท่องเที่ยวภายในชุมชนของตัวเอง แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่เติบโตเท่าที่ควร

          กระบี่แจ้งเกิด 5 ชุมชนพี่

          แต่วันนี้การท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ได้รวมตัวกัน 15 ชุมชน กับ 1 เครือข่าย จัดตั้งเป็นสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ เนื่องจากเรามีความพร้อมมากขึ้น และต้องการมีตัวตนที่ชัดเจนในภาคการท่องเที่ยว เพราะนั่นหมายถึงความน่าเชื่อถือขององค์กร และเป็นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวด้วย

          ในยุคเริ่มแรกมีชุมชนบ้านนาตีน ที่ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนมากว่า 10 ปีแล้ว ต่อมามีชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะกลาง ชุมชนท่องเที่ยวบ้านร่าหมาด ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทุ่งหยีเพ็ง และชุมชนท่องเที่ยวบ้านถ้ำเสือ ซึ่งเป็น 5 ชุมชนหลัก เราเรียกว่า "ชุมชนพี่"

          การท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการรวมตัวและขับเคลื่อนกันมาหลายรอบ บางช่วงชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้อ จนกระทั่งปี 2557  "ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก" อำเภออ่าวลึก เริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จนได้เป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบของจังหวัดกระบี่ในปี 2558 และปี 2559 ได้เป็นสุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวของไทย เส้นทางวิถีชุมชน วัฒนธรรมอันดามัน

          หลังจากนั้น ก็มีการพัฒนาเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีชุมชนท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก 9 ชุมชน โดยเรียกว่า "ชุมชนน้อง" ซึ่งเป็นการทำงานอย่างหนักของแต่ละชุมชนที่เกิดจากภายในจริง ๆ

          ชาญฤทธิ์บอกว่า ท่ามกลางการท่องเที่ยวกระแสหลักของจังหวัดกระบี่ การท่องเที่ยวโดยชุมชนถือว่าเล็กมาก ๆ แต่ละชุมชนมีจุดเด่น จุดขาย และศักยภาพด้านการตลาดที่แตกต่างกัน เช่น ชุมชนบ้านนาตีน ตั้งอยู่ใกล้อ่าวนาง เป็นไข่แดงของอ่าวนาง, ชุมชนบ้านเกาะกลาง อยู่ใกล้ตัวเมืองกระบี่, บ้านทุ่งหยีเพ็ง ใกล้บ้านศาลาด่าน ซึ่งเป็นประตู่สู่เกาะลันตา, หนองทะเล ชุมชนท่องเที่ยวน้องใหม่ล่าสุด อยู่บนเส้นทางไปหาดคลองม่วง

          ชุมชนท่องเที่ยวเกาะปู แหลมกรวด อยู่ใกล้กับเกาะจำ ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีวิธีการดึงนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักได้ โดยการทำตัวตนให้ชัดเจนแล้วไปนำเสนอกับผู้ประกอบการ หรือจะเข้าหานักท่องเที่ยวโดยตรง ผ่านสื่อต่าง ๆ เริ่มจาก Half Day Trip หรือ One Day Trip

          "การท่องเที่ยวโดยชุมชน มันเล็ก เล็กด้วยรายได้ แต่พื้นที่มันใหญ่ ใหญ่กว่าท่องเที่ยวกระแสหลัก รายได้เรายังมีไม่มาก เพราะกระบี่ดังจากกระแสหลัก ท่องเที่ยวโดยชุมชนเพิ่งเบ่งบานให้เห็น และนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ไม่ได้ชอบดอกไม้แบบนี้"

          เติมเต็มท่องเที่ยวกระแสหลัก

          ชาญฤทธิ์อธิบายต่อว่า อุปสรรคจริง ๆ คือเรื่องการบริหารจัดการที่ซับซ้อน ต้องบริหารจัดการ 2-3 มิติไปพร้อม ๆ กัน มิติแรกคือบริหารจัดการภายใน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ไม่สมดุล ก็จะมีปัญหาความขัดแย้ง และการบริหารจัดการกับองค์กรภายนอก เช่น ภาคราชการที่เกี่ยวข้องกัน

          ส่วนภาคเอกชนบางกลุ่มมองว่า เราเป็นคู่แข่งของเขา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเรามาเติมเต็ม เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการ Sea Sand Sun นักท่องเที่ยวก็ไปกับกระแสหลักอยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่นักท่องเที่ยวต้องการอะไรใหม่ ๆ ก็ส่งมาให้ชุมชน ผู้ประกอบการก็เอาคอมมิสชั่นไป เรามีตั้ง 15 ชุมชน ที่เติมเต็มให้กับภาคการท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวมากระบี่ ไปเที่ยว 4 เกาะ พัก 3 วัน 2 คืน ถ้ามาเที่ยวชุมชนด้วย นอนเพิ่มอีก 1 คืน รายได้ก็เพิ่มขึ้น ท่องเที่ยวโดยชุมชนอยากที่จะเติมเต็มตรงนี้ ไม่ได้ไปแย่งนักท่องเที่ยวจากกระแสหลัก อีกมิติหนึ่ง คือการบริหารระหว่างชุมชน ทั้ง 15 ชุมชน 1 เครือข่าย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

          ในส่วนของรายได้ ต้องยอมรับว่า ท่องเที่ยวชุมชนยังไม่มีรายได้ที่มากพอ ถ้าเป็นบริษัทคือต้องปิดกิจการไปแล้ว แต่เราเป็นชุมชน เราปิดไม่ได้ อาจจะมีสัก 1-2 ชุมชน ที่มีรายได้พอที่จะเดินต่ออย่างไม่ลำบาก การขับเคลื่อนอาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง เพราะยังไม่ใช่รายได้หลักของคนในชุมชน

          ย้ำต้องมีมาตรฐาน

          สิ่งสำคัญคือเรื่องของมาตรฐาน อะไรที่เป็นมาตรฐานที่การท่องเที่ยวต้องมี ชุมชนต้องทำให้ได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน โฮมสเตย์ต้องสะอาด ลงเรือต้องมีชูชีพ ต้องปลอดภัย แต่ไม่ต้องหรู หรือต้องแพง ที่สำคัญต้องแยกให้ออกระหว่างการบริการ กับวิถีชีวิต อะไรที่เป็นวิถีที่นักท่องเที่ยวต้องการมาดู เราต้องยืนหยัดตรงนั้นไว้

          ในแง่มาตรฐาน แต่ละชุมชนตั้งเป้าไว้แตกต่างกัน เช่น ที่บ้านแหลมสัก อ.อ่าวลึก เราตั้งเป้าเป็นชุมชนท่องเที่ยวคุณภาพสูง หรือ Premium มีความคลาสสิก เก๋ไก๋ ในวิถีเดิม ๆ แต่ไม่ถึงขั้นหรูหรา  ส่วนชุมชนอื่น ๆ ก็มีเป้าหมายตามอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนไป

          วันนี้ถ้ารายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ จ.กระบี่ 10,000 บาท อาจมาถึงชุมชนแค่หลัก 100 แต่ 100 บาทที่มาถึงชุมชน คือรายได้ที่กระจายลงในชุมชนจริง ๆ แบ่งกันไปตามสัดส่วน ส่วนรายได้ที่เข้าไปยังท่องเที่ยวกระแสหลัก เราไม่รู้เลยว่ามันไปตกอยู่ตรงไหนบ้าง อยู่ในจังหวัดกระบี่ หรือออกนอกประเทศไป

          ชาญฤทธิ์ย้ำว่า ในเชิงการตลาด เราพยายามสร้างมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและราคา แบบที่ราคาต่ำมาก ๆ ทำไปจนตายก็ยังไม่ได้อะไร แบบนั้นเราก็ไม่เอา ชุมชนมีมูลค่าในตัวเอง และต้องฝ่าฟันทัศนคติแบบเดิม ๆ ที่ผู้ประกอบการมักมองว่า "ของชุมชน" เป็นของบ้าน ๆ ราคาต้องถูก เราจึงต้องสร้างมาตรฐานให้ได้ก่อน

          เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชนอื่น

          การท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่สามารถเกิดขึ้นและเติบโตแบบปัจเจกได้ แม้ว่าจะมีเงินทุนมากมายขนาดไหน เราต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน มิติของการบริหารจัดการภายในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าชุมชนทำไม่ได้ สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการจะเป็นคน มาจัดการในชุมชนของเรา จะมาเลือกเรือลำที่ราคาถูกที่สุด เลือกอาหารที่ราคาถูกที่สุดไปใช้ พวกเราชาวชุมชนก็ต้องมาตัดราคากันเอง ซึ่งไม่อยากเป็นแบบนั้น

          จึงต้องทำเรื่องมาตรฐานทั้งคุณภาพและราคา ผู้ประกอบการก็ส่งนักท่องเที่ยว มาให้เรา แล้วเอาคอมมิสชั่นไป ที่เหลือ เราจัดการภายในของเราเอง แต่รับประกันว่า นักท่องเที่ยวจะประทับใจกลับไป ท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องเป็นแบบนี้ จึงจะมีความยั่งยืน และมีตัวตนในกระแสการท่องเที่ยวของไทย ในระยะต่อไป ทางสมาคมจะเชื่อมโยงเส้นทาง ท่องเที่ยวชุมชนกับจังหวัดอื่น ๆ ในอันดามัน ทั้งภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล

          ชาญฤทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าภาครัฐ ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจริง ๆ ต้องเข้ามาดู ถ้าชุมชนไหนทำได้ดีแล้วต้องดันให้ทะลุ ให้เป็นที่รู้จักไปเลย เมื่อนักท่องเที่ยวรู้จัก มาแล้วประทับใจ ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะกลับมาเที่ยวอีก และจะไปเที่ยวชุมชนอื่น ๆ ด้วย


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 - 3 พ.ค. 2560  หน้า 22