เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ส่งออกโต 5% สัญญาณยังไม่ชัด

          อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

          แม้การส่งออกสินค้าไทยในเดือน มี.ค. 2560 จะทำสถิติสูงสุดในรอบ 29 เดือน ด้วยมูลค่า 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.22% เทียบกับเดือน มี.ค. 2559 ส่งผลให้การส่งออกช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2560) มีมูลค่า 5.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% ใกล้เคียงกับเป้าหมายทั้งปีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกขยายตัว 5%

          การส่งออกในเดือน มี.ค.ที่เพิ่มสูงขึ้นมากเกิดจากปัจจัยระยะสั้นเร่งเร้าให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระยะนี้ โดยเฉพาะความหวาดวิตกเรื่องสงครามในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ และสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศซีเรีย ทำให้เร่งการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น

          ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการคาดการณ์จากทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.1% มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมคาดการณ์ว่าเติบโต 3.4% ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ในระดับนั้นจริงหรือไม่ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่เป็นแรงผลักดันการส่งออก ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

          สาเหตุที่การส่งออกในปีนี้ยังไม่แน่นอนว่าจะผลักดันให้โตได้ตามเป้าหมาย 5% ได้นั้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามที่อาจเกิดและทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการทางการค้าของ "โดนัลด์ ทรัมป์"

          ประธานาธิบดีสหรัฐ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้กำหนดให้ 13 ชาติส่งคำตอบชี้แจง เพื่อจัดทำรายงานสาเหตุการขาดดุลการค้าตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ (Executive Order) ในวันที่ 10 พ.ค. และจะเปิดประชาพิจารณ์ในวันที่ 18 พ.ค.นี้

          ล่าสุด วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต้องเรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อหารือถึงการหาข้อมูลในการตอบคำถามตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐขอมา ซึ่งสหรัฐพุ่งเป้าประเด็นการขาดดุลการค้าในภาคบริหาร โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังคงมีการละเมิดผ่านอินเทอร์เน็ตและบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระดับสูง รวมถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องภาษีสินค้านำเข้าของไทยหลายรายการที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ

          จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ทางการค้า โดยเฉพาะตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไทยอยู่ที่ประมาณ 10.5% ของภาพรวมการส่งออกไทยยังคงไม่แน่นอน เพราะหากผลการสอบเรื่องปมขาดดุลออกมาและสหรัฐพุ่งเป้าใน

          การปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของชาติตนเอง จะทำให้มีการออกมาตรการทางการค้าในระยะต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีสินค้า การใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย รวมถึงการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กรณีที่มีการส่งสินค้าเข้าไปสหรัฐจำนวนมากจนส่งผลให้สหรัฐขาดดุลการค้า

          ก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

          ได้เรียกประชุมเป็นการภายในเพื่อประเมินผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐ โดยมีการหารือเบื้องต้น 2 ครั้งในส่วนของภาครัฐและหารือกับเอกชนผู้ผลิตสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาคเอกชนได้ส่งสัญญาณแสดงความกังวลในภาพใหญ่ จากความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายสหรัฐ เช่น มาตรการทางการค้าและภาวะสงคราม โดยแนวทางการลดความเสี่ยงอาจต้องหาทางกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบการส่งออกในตลาดสหรัฐ

          ประเด็นมาตรการทางการค้าของนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐ จึงเป็นปมใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะต่อจากนี้ ยังไม่รวมความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อขีดความสามารถต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมา หากการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน อาจส่งผลให้การส่งออกไทยหลังจากนี้มีปัญหาเรื่องการแข่งขันได้เช่นกัน โดยล่าสุดค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน มี.ค. 2560 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.9 บาท/เหรียญสหรัฐ

          นอกจากนี้ หากดูจากไส้ในการ ส่งออกรายกลุ่มสินค้าของไทยในเดือน มี.ค. พบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบซึ่งมีสัดส่วน 15.24% ของสินค้าส่งออกไทยในภาพรวม ในไตรมาสแรกติดลบ 0.1% โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ไปตลาดอาเซียนในเดือน มี.ค. 2560 ติดลบ 22.2% แยกเป็นอาเซียนเดิม 5 ประเทศ ติดลบ 28% ส่วนกลุ่มซีแอลเอ็มวีการส่งออกรถยนต์ไปตลาดกัมพูชาติดลบ 26.8% ทำให้กระทรวง

          พาณิชย์กำลังหาถึงสาเหตุของการติดลบในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอย่างยานยนต์อย่างเร่งด่วน

          อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์การตั้งเป้าหมายส่งออกปี 2560 ไว้ที่ระดับ 5% พบว่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ (เม.ย.-ธ.ค.) การส่งออกจะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 1.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีมีมูลค่า 2.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากขยายตัว 4% หรือมีมูลค่า 2.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะต้องมีมูลค่า 1.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

          หากการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% หรือมีมูลค่าทั้งปี 2.22 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่เหลือจะต้องได้เฉลี่ยเดือนละ 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และหากการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% มูลค่า 2.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่เหลือ

          เฉลี่ยจะต้องมีมูลค่าเดือนละ 1.83 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากจะเติบโตได้ในระดับ 4-5% การส่งออกที่เหลือใน 9 เดือนหลัง

          จากนี้จะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 1.86-1.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ  นพพร เทพสิทธา อดีตประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การส่งออกในเดือน มี.ค. 2560 กลับมาส่งออกเป็นบวกเป็นผลจากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันราคาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความตึงเครียดจากภาวะที่อาจเกิดสงคราม และนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้นำเข้าเร่ง นำเข้าสินค้า ส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในภาพรวม

          "ผลพวงจากนโยบายของทรัมป์จะทำให้เกิดผลบวกต่อภาคการส่งออกไทยยาวถึงไตรมาส 2 นี้ ส่วนสถานการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาส 3 จะเริ่มเห็นผลกระทบในแง่ลบมากขึ้น ซึ่งเป็นผลของนโยบายสหรัฐเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนโยบายทางการทหาร ที่หากยังใช้นโยบายนี้ต่อเนื่องอาจเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากมือที่ 3 จนไม่สามารถคุมสถานการณ์และนำไปสู่การเกิดสงครามขึ้นจริง จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกอย่างชัดเจน" นพพร กล่าวให้ความเห็น

          จากนี้ไปคงต้องติดตามการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการค้าภายใต้นโยบายของทรัมป์ ว่าจะมีการออกคำสั่งพิเศษหรือมาตรการใดๆ เพิ่มเติมที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการค้าทั่วโลกหรือไม่ หลังจากที่ผลการสอบขาดดุลการค้าของสหรัฐกับ 13 ชาติที่ถูกเกี่ยวโยงออกมาแล้ว รวมไปถึงความตึงเครียดจากสถานการณ์การเมืองโลกที่อาจลุกลามไปสู่สงครามอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

          นั่นอาจทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบมากกว่าครึ่งปีแรก และทำให้การ ส่งออกไทยภาพรวมทั้งปี 2560 ยังไม่แน่นอนว่าจะขยายตัวได้ระดับ 5% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 26 เมษายน 2560  หน้า V1
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง