เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
หุ้นกู้อนุพันธ์ จ่ายดอกเบี้ยอิงกับตัวแปรที่กำหนด

          แต่ถ้าจะปล่อยให้คนวัยนี้ไปลงทุน แต่ตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ อาจจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะการลงทุนตราสารหนี้ หรือทิ้งเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้เงินงอกเงยขึ้นมาได้เลย โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเงินเฟ้อที่เป็นศัตรูของเงินออม

          แม้ว่าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็คงไม่ได้กลับไปสูงลิบลิ่วเท่ากับในยุคที่พ่อแม่เรายังสาวอีกแล้ว

          แล้วถ้าไม่อยากลงทุนในหุ้นเพราะกลัวความเสี่ยง แต่ก็อยากชิมลางผลตอบแทนดีๆ แบบเดียวกับที่คนลงทุนในหุ้นเขาได้กัน น่าจะลองเข้าไปหาความรู้เรื่อง "หุ้นกู้อนุพันธ์" กันดูสักหน่อย

          บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี ให้ความหมายของ "หุ้นกู้อนุพันธ์" หรือ Structured Note ว่าเป็นตราสารหนี้ที่จะจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย หรือชำระคืนเงินต้นโดยอ้างอิงกับตัวแปรที่กำหนด เช่น ราคาหลักทรัพย์ ราคาสินค้า ดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน หรืออะไรก็ได้ที่คนออกตราสารประเภทนี้ออกแบบให้อ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ

          การกำหนดผลตอบแทนหรือการชำระคืนเงินต้นโดยอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น

          1.กำหนดผลตอบแทนแปรโดยตรงกับตัวแปรอ้างอิง คือ เมื่อราคาของตัวแปรอ้างอิงเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนของหุ้นกู้อนุพันธ์ก็เพิ่มขึ้นตาม

          2.กำหนดผลตอบแทนแปรผกผันกับตัวแปรอ้างอิง ถ้าราคาของตัวแปรอ้างอิงลดลง ผลตอบแทนของหุ้นกู้อนุพันธ์จะเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากราคาของตัวแปรอ้างอิงเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากหุ้นกู้อนุพันธ์ก็จะลดลง

          3.กำหนดผลตอบแทนแบบขั้นบันไดตามช่วงราคาของตัวแปรอ้างอิง เช่น กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้อนุพันธ์ขึ้นอยู่กับ SET Index อาจจะกำหนดไว้ว่า

          ถ้า SET Index : ต่ำกว่า 1,500 จะไม่จ่ายดอกเบี้ย

          ถ้า SET Index : ขึ้นไปอยู่ระหว่าง 1,501-1,650 จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 5%

          ถ้า SET Index : ขึ้นไปสูงกว่า 1,650 จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 10%

          4.กำหนดผลตอบแทนเป็นช่วงของราคาตัวแปรอ้างอิง เช่น การจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้อนุพันธ์ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน อาจจะกำหนดไว้ว่า

          ถ้าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐ : ต่ำกว่า 33 บาท/เหรียญสหรัฐ จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 2%

          ถ้าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐ : อยู่ระหว่าง 33.01-34 บาท/เหรียญสหรัฐ จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 5%

          ถ้าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐ : สูงกว่า 34 บาท/เหรียญสหรัฐ จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 2%

          นอกจากนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ยังบอกอีกว่า การกำหนดผลตอบแทนหรือการชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้อนุพันธ์ยังสามารถทำได้อีกหลายวิธี ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์สามารถออกแบบการจ่ายผลตอบแทนหรือการชำระคืนเงินต้นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะและสถานการณ์ของบริษัทในขณะนั้นๆ ได้

          ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต แนะนำนักลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นอยู่แล้วว่า สามารถใช้หุ้นกู้อนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยงได้

          หุ้นกู้อนุพันธ์ (Equity Linked Note : ELN) คือตั๋วเงินระยะสั้น (อายุ 30-60 วัน) ที่เหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่การจ่ายผลตอบแทนและชำระคืนเงินต้นจะขึ้นอยู่กับราคาอ้างอิงของหุ้น หรือดัชนีหุ้นที่อ้างอิง

          "นักลงทุนระยะยาวที่เห็นว่าราคาหุ้นที่ตนถือนั้นปรับตัวขึ้นมามาก จึงอยากขายทำกำไรออกไปก่อน แต่ยังต้องการซื้อหุ้นดังกล่าวกลับคืนเมื่อราคาปรับลงมาถึงระดับที่ต้องการ สามารถใช้กลยุทธ์ขายหุ้นทำกำไรออกไปก่อนแล้วมาถือหุ้นกู้อนุพันธ์ไว้แทน"

          รวมทั้งใช้เป็นแหล่งพักเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากในระหว่างที่รอซื้อหุ้นในราคาเป้าหมายที่วางไว้

          การเลือกหุ้นอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์ ควรเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและมีการ จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นหุ้นที่นักลงทุนต้องการที่จะลงทุน หรือลงทุนอยู่แล้ว และควรมีสภาพคล่องพอสมควร เพื่อรองรับการทำกำไรหรือความต้องการใช้เงิน

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มี.ค. 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง