เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ถอดรหัส ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจเดิมพัน

          ชั่วชีวิตทั้งเทือกเถาเหล่ากอมิได้เป็นเกษตรกรมาเก่า ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ หรือ เปิ้ล วัย 29 ปี บุตรสาวของตระกูลกิตะพาณิชย์ คหบดีผู้มั่งคั่งด้วยธุรกิจค้าขายอะไหล่รถยนต์ เธอเรียนคณะนิเทศศาสตร์ที่ออสเตรเลีย ทันทีที่จบก็พบว่าไม่ชอบนิเทศศาสตร์ ตั้งคำถามกับชีวิต แล้วเริ่มจากความสนใจพัฒนาชุมชน แรกอยากไปสอนภาษาอังกฤษเด็กต่างจังหวัด แต่แม้เมื่อเด็กรู้ภาษาอังกฤษ ก็ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองหรืออยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่ดี

          เปิ้ลค้นทุกคำตอบและทุกวิธีการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้ ในที่สุดเธอค้นพบศาสตร์ของพระราชา พบว่าสิ่งที่พระองค์ทำอยู่คือคำตอบของปัญหา คำตอบของอนาคตและคำตอบของเธอ มองย้อนเข้าไปในตัวเอง ก่อนจะตอบอย่างหนักแน่นว่าชีวิตที่เหลืออยู่เธอจะตามไปซึ่งบาทองค์พระราชา

          “อยากพึ่งพาตัวเองให้ได้ด้วยเกษตรกรรม แต่เปิ้ลไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จึงไปหาความรู้จาก โจน จันได ได้แนวคิดเรื่องการพึ่งพาตัวเอง แต่แค่นี้ไม่พอ”

          เธอไปขอเรียนวิชา “1 ไร่ 1 แสน” กับอดิศร พวงชมพู ประธานกรรมการ บริษัท สยามแฮนด์ส เจ้าของแบรนด์เสื้อยืด “แตงโม” ที่บ้านสวน จ.นนทบุรี อดิศรบอกเด็กสาวว่า ถ้าอยากเรียนรู้ ต้องอยู่แบบเสื่อผืนหมอนใบนะ เปิ้ลตอบว่าได้ค่ะ ขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลา 2 สัปดาห์จากนั้นก็แบกเป้ 1 ใบไปเข้าเรียน

          “ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ บ้านเป็นกระต๊อบแบบเถียงนาเล็กๆ อยู่กลางไร่ ต่างคนต่างอยู่ดูแลแปลงของตัวเอง กลางคืนอาศัยไฟตะเกียง ถ้าจะเข้าห้องน้ำก็ต้องเดินไปที่พื้นที่ส่วนกลาง ใส่บู๊ตก็ไม่ได้เพราะดินเป็นเลนมาก เดินเท้าเปล่าดีที่สุด กลับมาจึงค่อยล้างเท้าในบ่อ นอนบนเถียง ดูดาวบนฟ้า ไม่มีพัดลม ร้อนมาก แมลงเยอะ”

          หลักสูตร 5 เดือน จบแล้วขออยู่ต่ออีก 1 ปี ประสบการณ์ทำให้เข้าใจถึงแก่นแท้ เปิ้ลเป็นเด็กเมืองตั้งแต่เกิด เรียนเมืองนอกโตเมืองนอก หากที่หนึ่งไรหนึ่งแสนคือสิ่งที่ทำให้มีเวลารู้จักกับตัวเอง สุดท้ายแล้วเราอยากได้อะไร เราต้องการอะไรๆ ที่นี่สอนแบบไม่มีหลักสูตร หัวใจคือการประยุกต์และปรับใช้ เพราะโลกไม่มีอะไรที่เหมือนกันหรือยึดเป็นหลักตายตัวได้เหมือนกันหมด

          “ได้เผชิญหน้ากับความกลัวก็ที่นี่ เมื่อก่อนเปิ้ลกลัวตุ๊กแก กลัวงู กลัวจิ้งจก กลัวแมลง มาอยู่ที่นี่เจอหมด เมื่อก่อนเราอาจตะโกนเรียกพ่อเรียกแม่ให้มาช่วย แต่เราอยู่ที่นี่ เราอยู่คนเดียวบนเถียงนาเล็กๆ ในท่ามกลางความมืด”

          จาก 1 ไร่สู่ 200 ไร่ เมื่อจบจากหนึ่งไร่หนึ่งแสน เปิ้ลก็คิดว่าการเรียนรู้รออยู่ข้างหน้า บิดามีไร่รกร้างที่ซื้อทิ้งไว้เมื่อหลายปีก่อนจำนวน 200 ไร่ที่ จ.เชียงราย เธอขออนุญาตใช้พื้นที่และพัฒนาเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ “ไร่รื่นรมย์” ความรู้ที่ร่ำเรียนมาบางอย่างใช้ได้ บางอย่างใช้ไม่ได้ แต่คือความอดทนที่ทำให้ไปต่อ เปิ้ลยึดแบบอย่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ได้บอกให้ใครทำตาม ไม่ได้พยายามเปลี่ยนใคร แต่ทำให้ดูด้วยการกระทำ

          เปิ้ลใช้กุศโลบายจ้างคนในพื้นที่มาทำงานในไร่ เพื่อให้ได้เห็นและเรียนรู้ เช่น การทำน้ำหมัก การทำปุ๋ย การทำแปลงอินทรีย์ ฯลฯ ทำนารอบแรกเมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมาน้ำท่วมหมด ไม่ได้อะไรเลย เริ่มจากนาแล้วเปลี่ยนเป็นผักเพิ่มเข้ามา ผักสลัดหลายๆ อย่างกล้วย พืชท้องถิ่น ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนใครจะเปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

          “คนงานที่นี่ต้องทำเป็นหมดทุกหน้าที่ เพื่อบังคับทางอ้อมให้ทุกคนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทุกคนต้องทำปุ๋ยเป็น ทำอาหารสัตว์เป็น ทำน้ำหมักเป็น เปลี่ยนหน้าที่ได้หมดทุกจุดในไร่ ทำงานแทนกันได้ เขาจะค่อย ๆ เห็นข้อดีของอินทรีย์ อันดับแรกคือสุขภาพ ความปลอดภัย”

          ข้าวราคาลง แต่เธอแปรรูปผลผลิตเป็นแป้งอบขนม มัฟฟิ่นข้าว และอื่นๆ สร้างมูลค่าเพิ่มและตลาดใหม่ๆ ดีใจที่สุดเมื่อได้เป็นตัวอย่างของคนที่ลงมือทำเกษตรอินทรีย์แบบจริงจัง ด้วยอายุที่น้อยก็ยังสามารถเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ได้กลับใจเดินออกจากโรงงานและกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นของตัวเอง ปัจจุบันไร่รื่นรมย์เป็นทั้งไร่เกษตรอินทรีย์ ที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ และเอาต์เลทสำหรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในหมู่บ้าน ที่สำคัญคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวบ้าน

          ด้าน ชารีย์ บุญญวินิจ วัย 28 ปี เจ้าของฟาร์มไส้เดือนลุงรีย์ (Uncle Ree’s Farm) เล่าให้ฟังว่า ฟาร์มไส้เดือนเริ่มต้นจากงานอดิเรกกับแนวคิดธรรมชาติออกแบบได้ สำรวจตัวเองว่ามีต้นทุนอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้แก่ตึกแถวพื้นที่จำกัด กับขยะในเมืองที่ผู้คนอยากกำจัด ก็มาเจอไส้เดือนที่เหมาะ เพราะความเป็นเมือง ไส้เดือนอยู่ได้ ไม่ต้องอาศัยการดูแลมาก ผู้คนแห่ดูงานล้นหลามเพราะแนวคิดมันใช่

          ชารีย์จบมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเป็นนักออกแบบ เป็นช่างปั้น เป็นดีไซเนอร์ เป็นพ่อครัว รวมทั้งเป็นนักค้นหาตัวเอง ค้นหาตัวเองตั้งแต่อายุ 21-28 ปี กระทั่งปัจจุบันเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ตามรอยพระบาท ชื่อ “ลุงรีย์” ได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของเกษตรกรหนุ่มสาวที่นำองค์ความรู้มาเป็นส่วนหลักของการทำเกษตร

          4 ปีที่ผ่านมา เปิดคอร์สอบรมต่อเนื่อง ผลิตนักเลี้ยงไส้เดือนแล้วกว่า 1,000 คน หัวกะทิจากแต่ละรุ่นที่ไปต่อยอดเปิดฟาร์มไส้เดือนของตัวเองก็หลายคน ปัจจุบันฟาร์มลุงรีย์ยังเปิดคอร์สปรุงดินปลุกผัก สอนเพาะเห็ดเยื่อไผ่ สอนเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง และคอร์สเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ ทั้งหมดเป็นผลต่อยอดจากโครงการหลวง

          “จากที่อยากมีฟาร์มในเมืองและมาลงตัวด้วยฟาร์มไส้เดือน ฟาร์มเห็ด ฟาร์มกุ้ง ทั้งหมดคือการต่อยอดความคิดจากโครงการหลวงทั้งหมด ทดลองแล้วพบว่า มันไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาของเราเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาของคนในเมืองด้วย”

          พออยู่ พอกิน พอร่มเย็น ฟาร์มไส้เดือนคือธุรกิจและความสำเร็จที่จับต้องได้ แถมต่อยอดได้สำหรับทุกคนที่ต้องการแก้ปัญหาตัวเอง หลักปรัชญาเศรษฐกิจความพอเพียงไม่ใช่บันได 9 ขั้นแบบตายตัว เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร คุณนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง หรือทักษะของตัวเองได้หมด มองให้รอบด้าน วิเคราะห์ให้ลุ่มลึก หลักคือให้พอเหมาะพอดีกับตัวเอง ให้พอพึ่งตัวเองและให้สังคมพึ่งได้

          “อย่างตัวผมเอง ฟาร์มไส้เดือนเหมาะกับผม เพราะผมนำความรู้เรื่องการออกแบบมาใช้ได้ ผมออกแบบให้เหมาะกับสังคมเมืองที่ผมอยู่ได้ คือการดีไซน์คือการออกแบบ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ตอนกลางวันไปทำงานประจำ ตอนกลางคืนกลับมาเลี้ยงไส้เดือน เป็นการเกษตรกลางคืนที่เหมาะพอดี๊พอดีกับตัวผม หรือจะว่าไปเหมาะกับคนเมืองทุกคน”

          สำหรับ พอต-อภิวรรษ สุขพ่วง เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 27 ปี เจ้าของไร่สุขพ่วง ไร่เกษตรอินทรีย์ตัวอย่างและศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย (EarthSafe) ตั้งอยู่ที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เดิมครอบครัวเป็นชาวไร่ แต่สะดุดในรุ่นพ่อแม่ที่เป็นข้าราชการ พอตก็เหมือนเด็กทั่วไปที่เคว้งคว้างอยู่ในโลกการศึกษาไทย เขาจบช่างคอมพิวเตอร์ เข้าทำงานในโรงงาน แต่ทนอยู่กับระบบไม่ได้ หน้าที่การงาน คือการกดปุ่มไม่กี่ปุ่มต่อวัน ชีวิตอาศัยในห้องคอนโดแคบๆ

          เมืองคือโลกที่ผิดหวัง ขอกลับบ้านนอกดีกว่า ในระหว่างที่ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรกิน ก็ใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าของตายายทำไร่ทำนา ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ ค่าอาหารที่เดิมตกครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายก็ทุ่นไปได้ เพราะผลผลิตไร่นา ต่อมาสินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกแชมพูยาสระผม สบู่ น้ำยาล้างจานก็หัดทำด้วย คราวนี้คุณแม่ไปตลาดแทบไม่ต้องควักกระเป๋า

          “จากคนที่ตกงานไม่มีรายได้ แต่ผมทำให้ครอบครัวไม่มีรายจ่าย พิสูจน์ตัวเองกับพ่อแม่แล้ว กระทั่งคิดว่าไหนๆ แล้วทำเป็นอาชีพก็ยังได้นะเนี่ย”

          แต่ที่จอมบึงสภาพดินแย่และแห้งแล้ง พอตไปขอความรู้คุณตาคุณยายแต่องค์ความรู้ของคุณตาคุณยายไม่พอ พอตจึงไปหาผู้รู้และได้พบพระมหากษัตริย์ที่คิดทุกอย่างเพื่อประชาชน (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) หลักคิดของพระองค์ท่านดูจากยูทูบแล้วนำมาปรับใช้ พอตแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วยการขุดบ่อ และขุดคลองแบบไส้ไก่ แก้ปัญหาเรื่องดินด้วยการใช้หญ้าแฝก ใช้ทฤษฎีใหม่ออกแบบพื้นที่การผลิต

          “คุณตาคุณยายเสียดายที่ดิน ตั้ง 40% นำไปขุดบ่อ ทิ้งไปเปล่าๆ หากไร่สุขพ่วงพิสูจน์ว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ปัจจุบันเราไม่มีปัญหาเรื่องดินและน้ำเลย”

          ถึงปัจจุบัน 6 ปีแล้ว อดีตหนุ่มช่างคอมพิวเตอร์โรงงานบอกว่า นี่ถ้ายังยึดติดกับชีวิตเมืองคงตายไปบนเศษซากกองทุกข์ ทุกวันนี้สุขเพราะได้อยู่กับครอบครัว ได้มีโอกาสดูแลบุพการี กินอยู่อาหารปลอดภัย สุขภาพจิตแจ่มใส หลักความพอเพียงไม่เพียงออกแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ หากยังออกแบบพฤติกรรมคนให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย

          “แก้ปัญหาดินและน้ำให้แล้ว แต่ถ้าคนยังโลภอย่างมาก เดี๋ยวก็แย่อีก สิ่งแวดล้อมก็เสื่อมทรามอีก ท่านจึงใช้หลักความพอเพียงออกแบบคนให้เหมาะสมกับพื้นที่ ออกแบบคนให้เหมาะอยู่บนความสมดุลของชีวิต ปรัชญาของท่านทำให้คนไทยทบทวนตัวเอง หาความพอเหมาะพอดีในแบบของตน เราคนไทย เรามี เราอยู่ในพื้นที่แบบนี้ๆ เราควรเป็น เราควรอยู่อย่างไร”

          แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว หากที่พระองค์ท่านทรงทิ้งไว้ คือคำสอนที่ทุกคนจะได้น้อมนำไปปฏิบัติ หลักทุนนิยมของต่างประเทศในไม่ช้าก็จะประจักษ์ว่าไม่จีรัง สะท้อนจากโลกร้อน สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติภัยเศรษฐกิจที่จะดาหน้าโถมทับมาเรื่อย จะมีก็แต่ปรัชญาเศรษฐกิจความพอเพียง ที่จักเป็นหนทางรอดของคนไทย หรือแม้กระทั่งของโลก

 

ที่มา: www.posttoday.com วันที่ 24 พ.ย. 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง