เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับ Thailand 4.0

          สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโตจนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า คือ การสร้างรายได้ในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปีในระยะหลังตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ให้เป็นร้อยละ 5 ให้ได้ในอนาคตอันใกล้ โดยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการผลิต จากการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงหรือกำไรต่ำ (Low Value Added Goods and Services)  ไปสู่การมีมูลค่าเพิ่มสูงหรือกำไรต่อหน่วยสูง (High Value Added) และเน้นให้ไทยมุ่งเข้าสู่การพัฒนาภาคบริการและภาคการผลิตที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สูงขึ้น (Innovation Driven Goods and Services)

          รอยเชื่อมต่อระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ไปสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13-15 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้คนไทยได้ต่อยอดแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติตลอดช่วงเวลา 20 ปี เพื่อเคลื่อนประเทศไทย จากประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 3 หรือ "Thailand 3.0" ไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ยุคที่ 4 หรือ "Thailand 4.0" ที่ได้พูดคุยกันมาหลายเดือนแล้วสำหรับผม ผมตั้งใจเขียนเรื่อง "แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12"กับ "Thailand 4.0" กับ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี"  และ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เพราะเห็นว่าทั้ง 4 เรื่องมีความเชื่อมโยงกันและตอบโจทย์เดียวกันคือทำให้ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกการพัฒนาที่ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้ลดลง ผ่านการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นกับคนไทยทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนานี้มากยิ่งขึ้น

          ครั้งที่แล้ว ผมได้เขียนไว้ว่า "แนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ  ประกอบด้วย คุณลักษณะหลักการสำคัญ 3 ประการ หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า "3 ห่วง" ได้แก่ ความพอประมาณ  การมีเหตุมีผล  และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งหลักการทั้งสามจะตั้งอยู่บน "2 เงื่อนไข" ที่สำคัญคือการมีความรู้และการมีคุณธรรม" ซึ่งผมคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ใน "Thailand 4.0" อย่างชัดเจนครับ

          เพราะแนวคิดของ "Thailand 4.0" เริ่มต้นที่ถูกเผยแพร่ต่อสังคมโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้นได้แบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ (Strength from Within) กับการสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดโลก (Connect to the World)

          การแบ่งการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ออกเป็น 2 กลุ่มดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ได้แก่ การสร้างความพอเพียงและความเข้มแข็งในระดับปัจเจกบุคคลหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการ (Entrepreneur Driven Proposition) ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีความฉลาดและใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Smart Entrepreneur) ใน "Thailand 4.0"

          ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 ได้แก่ การสร้างความพอเพียงและความเข้มแข็งในระดับชุมชน หรือกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรม โดยนำความเข้มแข็งของบุคคลในพื้นที่หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมารวมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน กลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนด้วยชุมชนหรือกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจ (Community Driven Proposition) ผ่านการสร้างสภาวะแวดล้อมทางสังคม (Ecosystem) ที่เหมาะสมที่สังคมชุมชนนั้นจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสิ่งดีๆ และสิ่งใหม่ๆ (Social Mobility)   เพราะสังคมจะถูกสร้างให้เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยโอกาส (Society with Opportunity) และสังคมที่อุดมไปด้วยความสามารถ (Society with Competence)

          และทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ได้แก่ การสร้างความพอเพียงและความเข้มแข็งในระดับประเทศ โดยนำความเข้มแข็งของชุมชมหรือกลุ่มคลัสเตอร์มารวมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน กลุ่มคลัสเตอร์และประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงการค้าการขายระหว่างเศรษฐกิจชุมชนกับธุรกิจระดับประเทศหรือในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Economy) ผ่านการสร้างและเพิ่มความสามารถของประเทศ (Local Empowerment)

          ที่กล่าวมาข้างต้นจัดเป็นการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศใน "Thailand 4.0" ผ่านการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ทั้ง 3 ขั้นครับ สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดโลกใน "Thailand 4.0" นั้น เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3  ผ่านการนำความเข้มแข็งของชุมชม กลุ่มคลัสเตอร์ กลุ่มภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงการค้าการขายระหว่างเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน CLMV หรือ AEC หรือตลาดโลกครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ P2P (People to People) หรือ B2B (Business to Business) หรือ G2G  (Government to Government) หรือรูปแบบอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ใน "Thailand 4.0"

          สำหรับการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใน "Thailand 4.0" โดยใช้หลัก " 3 ห่วง" ได้แก่ ความพอประมาณ การมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งหลักการทั้งสามจะตั้งอยู่บน "2 เงื่อนไข" คือ การมีความรู้และการมีคุณธรรม นั้น ขอคุยต่อในฉบับหน้านะครับ.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 7 พ.ย. 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง