เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แผ่นดินของพระราชา พระปรีชาด้านพัฒนาดิน

          อย่างเรื่อง "ดิน" เมืองไทยประสบภาวะดินเค็ม ดินด่าง และดินเปรี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการทำเกษตรกรรม พระองค์มีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการแก้ไข ปัญหาดิน เช่น โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก ขึ้นในทุกหัวระแหง ในทุก พื้นที่แร้นแค้น เพื่อให้ประชาชนของ พระองค์เบิกบานและงอกงามประหนึ่งพืชได้ดินดี

          ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก กล่าวในรายการพิเศษ คสช.ถึงการพัฒนาดินตามแนวทางพระราชดำริ ความว่า พื้นที่ตั้งของศูนย์ภูมิรักษ์แต่ก่อนเป็นพื้นที่รกร้าง เพราะดินเป็นดินเปรี้ยวจึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่ด้วยแนวทางการแก้ไขดินตามพระราชดำริจึงสามารถพลิกฟื้นดินที่ไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้เลย ให้กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์

          "เมื่อดินดีขึ้น ความหวังของชาวบ้านก็มีมากขึ้น" ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติปรับพื้นที่เมื่อปี 2547 และเริ่มปลูกต้นไม้ต้นแรกในปี 2549 ตอนนี้ผ่านมา 10 ปี ดินที่เคยไร้ประโยชน์กลับมีคุณค่า รวมทั้งน้ำ ป่า และคน ก็ล้วนถูกพัฒนา โดยภายในศูนย์ฯ ได้จำลองป่าสี่ภาคในประเทศไทยให้คนที่มาเข้าชมได้เรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน

          "เราต้องไม่แค่เห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่เราต้องมองพระองค์ท่าน" ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวต่อ "เห็น คือการดูอย่าง ผิวเผิน ส่วนการมองคือการดูรายละเอียดให้มากที่สุด เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับทรงงานอะไร เราต้องไม่เพียงแต่เห็น เราต้อง มอง ศึกษาให้ลึกซึ้งและปฏิบัติด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจะอยู่กับเราตลอด พระองค์ไม่เคยไปไหนจากเราเลย เพราะเราเข้าใจว่า พระองค์ท่านคิดอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง แล้วเราก็ทำตาม ทุกคนสามารถทำได้ถ้าตั้งใจจริง แนวทางของพระองค์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องใช้ งบประมาณมาก ขอแค่ต้องมีความเพียร"

          นอกจากนี้ ข้อมูลโครงการพระราชดำริ จากเครือข่าย เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com กล่าวถึงโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดินว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่จึงเลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมาช้านาน แผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ และด้วยพระปรีชาสามารถอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น ดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า "ดินแร้นแค้น"

          ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศโครงการแกล้งดิน

          แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็น กรด วิธีการโดยสรุป คือ ขังน้ำไว้ในพื้นที่ที่มีดินเปรี้ยว ให้เกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออก และปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

          โครงการแกล้งดินเกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรใน จ.นราธิวาส เมื่อปี 2524 ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออกเพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผล กระทบต่อระบบนิเวศด้วย

          การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เป็นเพราะดินมีเศษอินทรียวัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และมีระดับความลึก 1-2 เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ อยู่มาก เมื่อดินแห้งสารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษา การพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน

          เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน กระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ ปรับปรุงดินด้วยการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อป้องกันสารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์

          จากการทดลองทำให้พบว่าวิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสมมี 3 วิธีการ คือ หนึ่ง ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยวให้ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตจะทำให้พืชให้ผลผลิตได้ สอง ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน และ สาม ใช้ทั้งสองวิธีผสมกัน

          จากจุดเริ่มต้นที่นราธิวาส โครงการแกล้งดินได้ถูกนำไปใช้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ให้เกษตรกรมีดินดี มีพืชผลดี และมีชีวิตที่ดี ไม่ถูกดินแกล้งให้สิ้นหวังอีกต่อไป

โครงการหญ้าแฝก

 

          "....ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม..." พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ประกอบด้วย หนึ่ง การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน รากจะยึดดินไม่ให้ดินสไลด์หรือดินถล่มในช่วงฤดูฝน

          สอง การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำเป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก สาม การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวน ผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โตหรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล เพื่อไม้ผลจะเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป

          สี่ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ ควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน ห้า การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม หญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายและรักษาความชื้นในดินเอาไว้ และ หก การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

          นอกจากนี้ แนวทางตามพระราชดำริเกี่ยวกับดินยังถูกนำไปริเริ่มโครงการพัฒนาหลายแห่ง ทั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี และโครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จ.นครนายก เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ของชาวไทยทุกคน

          "เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับ สามารถจะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้...คือหมายความว่าทุกหน้าที่สามารถมาดูได้ในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสายต่างๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา..." พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช PT

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 ตุลาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง