เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง

          ช่วงแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์นั้น รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พยายามควบ คุมพระราชอำนาจของพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงศึกษาเล่าเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ทรงดำเนินโครงการเกษตร, ฟาร์ม และการพัฒนาโครงการ อื่น ๆ ภายในเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิต

          โครงการพัฒนาเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงการได้รับปลาทิลาเปียผ่านทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) จากนั้นพระองค์ได้นำปลาดังกล่าวไปเพาะพันธุ์ที่สระน้ำในพระราชวังดุสิต และการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาจากญี่ปุ่น จนในที่สุด พระองค์พระราชทานชื่อว่า ปลานิล และพระราชทานให้แก่ประชาชน นำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อให้พสกนิกรอยู่ดีกินดี เนื่องจากปลานิลเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง กระทั่งทุกวันนี้ปลานิล ยังเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยทั้งประเทศ

          ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกต่างจังหวัดเป็นประจำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และได้เยี่ยมราษฎรที่อยู่

          ตามชนบท พร้อมกับทรงเรียนรู้ชีวิตประจำวัน และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน การเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัดของพระองค์เต็มไปด้วยอุปสรรค ความยากลำบาก และทุรกันดาร บางพื้นที่รถพระที่นั่งไม่สามารถเข้าถึง แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ย่อท้อ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเอง ทำให้พระองค์กุมหัวใจของคนไทยทั้งชาติ  ในฐานะกษัตริย์นักพัฒนา

          ต่อมาสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ โดยรัฐบาลยุคนั้นให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการพระราชดำริหลายอย่างของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น การชลประทาน ไปจนถึงการเกษตร และการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดีขึ้น

          โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ได้ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อการจัด การและดูแลพัฒนาโครงการต่าง ๆ นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการพัฒนาส่วน พระองค์ ปรากฏว่า โครงการพัฒนานี้ได้อนุมัติโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไป

          แล้วกว่า 4,600 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ เดิมทีโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร ที่ทำให้ผลผลิตลดลง และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งยากจนและขาดโภชนาการที่ดี

          ปี 2531 มูลนิธิชัยพัฒนาได้ก่อตั้งขึ้นภายในพระตำหนักจิตรลดา โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการพัฒนาทดลอง โครงการนี้ใช้กองทุนส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช งานวิจัยของมูลนิธิชัยพัฒนามุ่งเน้นไปที่เรื่องดิน, การเกษตร, ป่าไม้, ประมง, อาหาร, ชลประทาน,  ฟาร์มแบบผสมผสาน, การจัดการทรัพยากรน้ำ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

          มูลนิธิชัยพัฒนาได้ส่งเสริมทฤษฎีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะทฤษฎีใหม่มุ่งเน้นไปที่การจัดการพื้นที่เพาะปลูก และส่งเสริมเกษตรกรให้มีความหลากหลาย ด้วยการแบ่งที่ดินออกเป็นสี่ส่วน ส่วนร้อยละ 30 เป็นน้ำ, อีกร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว และร้อยละ 30 ปลูกพืชต่าง ๆ ที่เหลือร้อยละ 10 เป็นที่พักและโรงนา

          ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความนิยมเมื่อปลายทศวรรษ 1990 หลังวิกฤติการเงินเอเชีย ทามารา ลูส์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลในสหรัฐ อธิบาย ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประเทศ ไทยผลิตสิ่งต่าง ๆ ให้พอกับความต้องการ และส่งเสริมเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในระยะยาว

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มแรกนั้น มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอาชีพ, สวัสดิการสังคม, สุขภาพและการศึกษา ซึ่งเห็นได้ชัดที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ชาวเขาได้หันมาปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นยาเสพติด หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนับสนุนให้ ชาวเขาหันมาปลูกเมล็ดกาแฟและถั่วแม็คคาเดเมีย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและมีมูลค่าสูง

          นอกจากนี้ โครงการหลวงต่าง ๆ ยังสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพ และให้ชุมชนเกษตรต่าง ๆ ผลิตงานฝีมือเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างสินค้าประจำชุมชน ส่วนโครงการสวัสดิการสังคม ส่งเสริมด้านการเล่าเรียน และส่งแพทย์กับครูไปทำงานในชนบท เพื่อให้ความรู้กระจายไปอย่างทั่วถึง

          การพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2549 นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 ตุลาคม 2559 หน้าที่ 11



เอกสารที่เกี่ยวข้อง