เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
Smart Farming ที่เป็นไปได้และไม่ไกลเกินเอื้อม

                 ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้าคือเกษตรกรไทยจะไม่เหลืออีกแล้ว ขณะที่ลูกค้าปัจจุบันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ก็มีค่าอายุเฉลี่ยที่ 55 ปี สัญญาณเหล่านี้กำลังบ่งชี้ว่าแทบไม่มีคนรุ่นใหม่หลงเหลืออยู่ในภาคการเกษตร แต่เมื่อมองไปที่ข้อมูลเรื่องอาหารของโลกโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะพบว่า อนาคต ความต้องการอาหารของประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และผู้คนจะหันมาใส่ใจการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วประเทศไทย หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนโลกควรปรับตัวอย่างไร ให้ยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศได้อย่างเพียงพอ และคาดหมายว่าจะเป็นแหล่งอาหารที่มีศักยภาพของโลกได้

                 Smart Farming หรือการผลิตโดยลดต้นทุนทั้งกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพ โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วย อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจและเป็นอนาคตที่ภาคการเกษตรไทยไม่อาจมองข้าม คุณอ๊อบ-ณัฐชัย และคุณอาร์ต-ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์ คือ 2 พี่น้องคนรุ่นใหม่แห่ง Deva Farm ที่เลือกนำหลักคิดดังว่ามาประยุกต์ใช้ในการทำฟาร์มฮอปส์ (Hops) โดยตัดสินใจหันหลังให้กับบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือที่ดำเนินกิจการมาราว 13 ปีเป็นการถาวร เพื่อออกสตาร์ทงานใหม่ในฐานะฟาร์มเมอร์ปลูกฮอปส์ หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการทำคราฟท์เบียร์เป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยเรียนรู้การปลูกฮอปส์ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต บวกกับนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่มีมาใช้ในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิผล เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของ Smart Farming บนที่ดินทำกินในประเทศที่น่าจับตา

                 อะไรคือแรงจูงใจของการทำฟาร์มฮอปส์อย่างจริงจัง

                 อาร์ต: มันมาจากการที่เราทั้งคู่เป็นคนชอบดื่มเบียร์ เลยเริ่มศึกษาวิธีการทำคราฟท์เบียร์ ซึ่งฮอปส์ปกติเป็นวัตถุดิบหลักของการทำเบียร์ มีอยู่ 4 อย่าง คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ แต่มีความเชื่อว่าฮอปส์ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาว เคยได้ยินว่าในเมืองไทยมีปลูกที่ภาคเหนือบ้าง แต่เก็บผลผลิตได้ไม่เยอะและยังไม่ค่อยมีใครปลูก เราอยากท้าทายความเชื่อที่ว่า ฮอปส์ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาวจริงหรือเปล่า ในเมืองร้อนอย่างบ้านเราปลูกได้ไหม เลยเริ่มมาปลูกฮอปส์จริงจัง พอโอเคแล้วและมองว่าน่าจะทำเป็นธุรกิจได้ ถึงได้เริ่มปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่

                 อ๊อบ: ตอนแรกสั่งเหง้าเป็นแท่งมาจากอเมริกามาปลูกในห้องแอร์ด้วยซ้ำ จนมันออกดอกได้ ก็เลยลองย้ายไปปลูกเอาต์ดอร์ สุดท้ายพอลองแล้วได้ผล 2-3 รอบ จึงตัดสินใจทำโรงเรือนฮอปส์ขึ้นมาปลูกเพื่อการค้า ถ้าเก็บฮอปส์ได้มากพอแล้ว ก็จะเริ่มต้นทำโรงทำคราฟท์เบียร์ในบริเวณพื้นที่ของเราเอง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากฟาร์มฮอปส์ แพลนจะทำ Brew Pub เป็นโรงผลิตเบียร์สด โดยจะนำผลผลิตฮอปส์มาใช้ในโรงเบียร์ของเรา    

                 ก่อนจะมีคำว่าสตาร์ทอัพ ผมทำบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ปี 2002 เช่น Nokia รุ่นแรกๆ ที่มีกล้องถ่ายรูป ทำระบบภาษาไทย ทำโปรแกรมส่ง SMS ฯลฯ เราเป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ พอทำมาได้ 8 ปี บริษัทดีแทคก็มาเทคโอเวอร์ โดยแบ่งกันถือหุ้นคนละครึ่ง จากนั้นก็ทำบริษัทนี้ต่อมาจนถึงปี 2015 ก็หยุดทำ เบ็ดเสร็จทำบริษัทมาราว 13 ปี จากนั้นตลาดมือถือเริ่มอิ่มตัวแล้ว เริ่มมีสมาร์ทโฟนมากขึ้น ไอโฟน ซึ่งสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นฟรีได้เต็มไปหมด เราเลยทำตลาดได้ยากขึ้น คนที่ทำรายได้จากแอพพลิเคชั่นได้เหลือน้อยมาก ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่ายเลยตัดสินในยุติบริษัทและปิดไปเมื่อราวกลางปีที่ผ่านมา

                 นำความรู้เชิงโปรแกรมเมอร์มาประยุกต์ใช้กับการทำฟาร์มอย่างไร

                 อ๊อบ:  หลักๆ คือใช้คอนโทรลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น จะเรียกว่าเป็น Precision Farming หรือ Smart Farming ส่วนหนึ่งก็ได้ ทุกอย่างคอนโทรลโดยคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง รวมถึงจากสมาร์ทโฟนซึ่งมีแอพพลิเคชั่นที่รันตรงนี้ได้ แอพฯ นี่เราก็ทำเอง ผมเป็นคอมพิวเตอร์เอ็นจิเนียร์อยู่แล้ว ผมเลยเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมเอง เซ็นเซอร์ก็ทำเอง เดินระบบให้น้ำให้ปุ๋ยเองด้วย อย่างที่โรงเรือนฮอปส์เราก็จะควบคุมไม่ให้ร้อนเกินไป แต่โรงเรือนจะมีที่พ่นหมอกอยู่ ซึ่งเราจะไม่พ่นมั่วๆ ซั่วๆ จะมีตัวเซ็นเซอร์ทุกโรงคอยวัดอุณหภูมิตลอดเวลา เมื่ออุณหภูมิมาถึงค่าที่กำหนด หมอกก็จะถูกพ่นออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้นไว้ รวมถึงระบบปุ๋ยต่างๆ เราใช้ระบบปุ๋ยผ่านน้ำไฮโดรโปนิกส์ รดน้ำไปด้วย รดปุ๋ยไปด้วย รดวันละ 5 ครั้ง ปุ๋ยนี่เราก็ผสมเอง ควบคุมโดยตัวคอนโทรล ทำงานตลอดเวลา ถึงแม้เราไม่อยู่บ้าน ไม่ได้ใช้คนเข้าไปพ่น

                 อย่างที่ผมทำ ผมมองว่ามันเป็นกึ่งๆ Automated Farming มากกว่า คือเราไม่ต้องทำอะไรเกี่ยวกับงานรูทีน เช่น รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ควบคุมความชื้นและแสง ฯลฯ เพราะเราตั้งค่าโปรแกรมไว้ได้ ปล่อยให้ระบบทำอัตโนมัติได้ ซึ่งจะเที่ยงตรงแม่นยำกว่าคนทำ ที่ฟาร์มจะมี Weather Station ต่างๆ คอยวัดระดับน้ำฝนและแรงลม เราก็เอาใส่โปรแกรมได้ว่าถ้าวันนี้ฝนตก เราก็ไม่ต้องรดน้ำ หรือถ้ามีพยากรณ์อากาศว่าอีก 2 วันฝนจะตก แล้วปกติต้องรดน้ำตอนเย็น ก็ไม่ต้องรด เป็นการประหยัดค่าน้ำไปด้วยในตัว รวมถึงว่าถ้ารดน้ำเยอะไปมันก็จะเน่า มีเชื้อโรค ไม่ดี เรารับข้อมูลจาก Weather Station ต่างๆ แล้วก็มาคำนวณว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง เราเขียนโปรแกรมต่างๆ โดยดึงข้อมูลจากหลายๆ ที่ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลเครื่องวัดแรงลม ฯลฯ แล้วผสมผสานกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ

                 เมื่อไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตร เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและการทำฟาร์มมาจากไหน

                 อ๊อบ: หลักๆ คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต เพราะมีข้อมูลเยอะมากและไม่จำกัด เราหาได้เรื่อยๆ อยากรู้อะไรก็เสิร์ชได้ แล้วก็นำมาทดลองเอง นอกจากนั้นก็ศึกษาจากหนังสือทั้งในและต่างประเทศ แต่จะเป็นหนังสือต่างประเทศมากกว่า เพราะหนังสือในประเทศที่พูดถึงการปลูกพืชผักแบบสมัยใหม่ไม่ค่อยอัพเดทและมีให้อ่านน้อย และมักพูดถึงการทำฟาร์มในสเกลใหญ่ แต่ฟาร์มของเราสเกลไม่ใหญ่มาก ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งได้จากกรมวิชาการเกษตร พอมีปัญหาเรื่องข้อมูล ก็จะไปติดต่อสอบถามที่นั่น เขาก็จะให้คำแนะนำต่างๆ ทั้งวิธีการแก้เรื่องโรค แมลงศัตรูพืช ฯลฯ นักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตรก็เคยมาช่วยดูและให้คำแนะนำกับฟาร์มของเรา 2-3 รอบแล้ว นอกจากนี้ผมก็ไปเรียนตามคอร์สต่างๆ ที่สอนปลูกผัก ซึ่งปัจจุบันมีค่อนข้างเยอะ ประมาณ 20-30 เจ้า ทำให้ได้ความรู้และข้อมูลอะไรใหม่ๆ มาพอสมควรเลย

                 เมื่อพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับการทำฟาร์มฮอปส์ได้ คิดว่านี่จะเป็นโมเดลธุรกิจหรือ Smart Farming ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับที่อื่นๆ ได้ไหม  

                 อ๊อบ: มองว่าถ้าใครอยากทำฟาร์มแบบเรา เราเป็นที่ปรึกษาให้ได้ ว่าควรหรือไม่ควรใช้อะไร แต่ถ้าถึงขั้นให้วางระบบหรือไปทำให้เลยนั้น ต้องบอกว่าแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน แล้วอีกอย่างคือระบบ Smart Farming ยังไม่นิ่ง เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะเจ๊งได้ ถ้าเกิดเรารับผิดชอบเต็มๆ มันจะเสี่ยงไป ยุคนี้เป็นยุคที่ Smart Farming เพิ่งเริ่มมากกว่า ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เรื่องการทำฟาร์มเพิ่งมีจริงจังก็ 2-3 ปีมานี้ ที่ใช้กันเยอะหน่อยน่าจะเป็นระบบจากอิสราเอลที่ปลูกพืชผักในทะเลทราย ซึ่งเขาพัฒนามานานแล้ว ประเทศเขามีปัญหาเรื่องการเพาะปลูกจริงๆ แต่โนวฮาวเขาก็ใช้ได้ในที่ของเขา เราใช้ไม่เหมือนกัน ส่วนอเมริกา เขาปลูกผักในกรีนเฮาส์ เพราะมีปัญหาอากาศหนาวในหน้าหนาว แต่ของไทยไม่ใช่ปัญหาเรื่องอากาศหนาว แต่เป็นการควบคุมแมลงหรือปัจจัยอื่นๆ เพราะฉะนั้นโนวฮาวหรือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ก็จะไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคู่แข่งต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือจีนที่มีนักวิจัยมากกว่าเราเยอะมาก เซ็ตระบบสำหรับผลิตในสเกลใหญ่ได้เลย เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าเราอินเวสต์เป็นระบบโนวฮาวออกมา มันเสี่ยงเกินไป

                 เมื่อก่อนเราทำจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งค่อนข้างจะควบคุมได้ ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเราพกมือถือติดตัวตลอดหรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์อยู่ในห้องแอร์ แต่พอเป็นระดับฟาร์ม มันยากกว่ามาก เพราะทุกอย่างอยู่กลางแดด กลางฝน อุณหภูมิกลางวันของเมืองไทยบางจุดที่พื้นผิวสูงถึง 50 องศา ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะรับไม่ค่อยไหว มีปัญหาตลอดเวลา เราก็เลยต้องคอยแก้ไขบ่อยๆ ต้องบอกว่าการทำงานกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เหล่านี้ ซอฟต์แวร์ก็ต้องเปลี่ยนเรื่อยๆ และพัฒนาอยู่ทุกวัน แต่ฮาร์ดแวร์ก็เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจด้วย ต้องมีระบบสำรองเพิ่มขึ้นมา เพราะถ้าระบบปกติล่ม ต้นไม้ของเราก็มีโอกาสตายได้ อย่างช่วงหน้าร้อน ระบบพ่นหมอกล่มไม่ได้เลย ล่มปุ๊บอุณหภูมิจะร้อนมาก ขึ้นไปเกือบ 40-50 องศา ซึ่งต้นไม้ตายแน่ๆ เพราะฉะนั้นเราเลยขาดระบบสำรองไม่ได้ สำหรับระบบของการทำฟาร์มมันท้าทายเหมือนกันนะ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้จะใช้ได้นานแค่ไหนจนกว่ามันมีปัญหาขึ้นมา ไม่ว่าจะทำเองหรือสั่งซื้อจากต่างประเทศ

                 อาร์ต: เมื่อก่อนเราแก้ปัญหาแต่ตัวซอฟต์แวร์อย่างเดียว แต่ตอนนี้เราเจอปัญหาเรื่องความทนทานของฮาร์ดแวร์ มันจะมีการเสื่อมด้วย ปัจจุบันเราจึงต้องดูแลทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ควบคู่กันไป ให้มันยังทำงานได้โอเคอยู่

                 ตอนนี้ฟาร์มมีพื้นที่เท่าไร แบ่งปลูกอะไรบ้าง   

                 อ๊อบ: ตอนนี้ปลูกฮอปส์เป็นหลัก มี 5 โรงเรือน โรงเรือนละ 100 กว่าตารางเมตร บนพื้นที่ราว 1 ไร่นิดๆ เราปลูกโรงเรือนห่างกันนิดหน่อย ตอนนี้ปลูกฮอปส์ราว 200 กว่าต้น/ โรงเรือน แต่ยังไม่เต็มโรงเรือน ถ้าเต็มจริงๆ จะมีประมาณ 700 ต้น/ โรงเรือน ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักไว้สำหรับกินเอง เรามีคนงาน 1-2 คนเพื่อคอยจัดพื้น จัดเก็บวัชพืช นอกนั้นใช้คอมพิวเตอร์สั่งการทั้งหมด เรื่องการดูแลต้นฮอปส์ เราจัดการเอง เพราะเป็นของที่ค่อนข้างใหม่ จะให้คนงานดูคงไม่ได้ ปัจจุบันเราก็ยังศึกษาการปลูกฮอปส์อยู่เรื่อยๆ เพราะเราปลูกมา 1 ปีกับ 9 เดือน ยังไม่ครบ 3 ปี และยังคงสั่งซื้อฮอปส์จากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ เป้าหมายคือปลูกฮอปส์สำหรับทำโรงผลิตเบียร์สดเป็นหลัก ถ้าเหลือแล้วค่อยแพลนส่งออกต่างประเทศในอนาคต  

                 มองความยั่งยืนของฟาร์มไว้อย่างไร

                 อ๊อบ: คราฟท์เบียร์คงไปได้อีกสักพักแน่ๆ เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีมานานแล้ว และไม่น่าจะหายจากโลกไปในเร็ววันนี้ และคนก็คงกินตลอด นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จริงมีโรงคราฟท์เบียร์เยอะ แต่เขายังไม่มีฮอปส์ที่มาจากภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นฮอปส์ที่มาจากอเมริกา ถ้าทำได้ เราก็จะเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ซัพพลายฮอปส์ไปให้ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งมีค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันเริ่มมีคนติดต่อเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าถ้ามีของจะขอซื้อเลย เพราะเขาก็อยากลองใช้ดู ต้องเล่าว่าปัจจุบันฮอปส์ใช้ได้ 2 แบบ คือแบบแห้ง (ใช้ดอก) กับแบบสด ซึ่งต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง หมายความว่าถ้าสั่งฮอปส์จากอเมริกา มันไม่มีทางมาถึงโซนนี้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าจะใช้ภายใน 24 ชั่วโมง เราก็ต้องปลูกเอง แล้วส่งไปขายในประเทศแถบนี้

                 สำหรับประเทศไทย คุณมองเห็นหนทางของ Smart Farming และการทำฟาร์มออร์แกนิกในอนาคตไหม

                 อ๊อบ: ก็เป็นไปได้ แต่น่าจะเกิดจากเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ใช่รุ่นเดิม อาจเป็นลูกหลานเกษตรกรเดิมที่เขาอยากจะปรับเปลี่ยนและแก้ไข เช่น มีพ่อแม่เป็นชาวนา ยังคงปลูกข้าวแบบเดิมๆ อยู่ อาจจะเปลี่ยนมาปลูกข้าวออร์แกนิกเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ถามว่าถ้าเกษตรกรเดิมเอามาใช้ ผมว่าเปลี่ยนยากแล้วล่ะ ต้องใช้เวลา 10-20 ปี กว่าจะเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ว่ามีอุปกรณ์ไฮเทคมาปุ๊บแล้วเขาจะใช้เลย มันเป็นวิธีการที่ทำมานานและเป็นความเชื่อด้วย ถ้าไม่ใช่รุ่นใหม่จริงๆ ก็คงเปลี่ยนยาก แต่ก็มองว่าปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำเรื่อง Smart Farming และการใช้ Biological Control ที่เป็นออร์แกนิกมากขึ้น

                 อาร์ต: มันคงเป็นเพราะกระแสที่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรื่องอาหารการกินและวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหารมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนวิธีการในการปลูก เพราะเราเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องแหล่งที่มาของพืชผักที่กิน การผลิต และการใช้สารเคมีกันอย่างจริงจังมากขึ้น

                 คำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อยากลาออกจากงานประจำ แล้วหันมาทำฟาร์มแบบคุณบ้าง

                 อาร์ต: ถ้าชอบจริงๆ อาจเริ่มจากทำเป็นงานอดิเรกก่อน ดูว่าเราโอเคกับมันจริงไหม ทำได้ถึงขั้นไหน พร้อมจะออกจากงานเลยหรือเปล่า เพราะถ้าลาออกจากงานประจำเลย มันเหมือนเราทุบหม้อข้าวแล้วไปตายเอาดาบหน้า ถ้ายังไม่มั่นคง ไม่ชัวร์พอ มันอาจจะไม่คุ้ม

                 อ๊อบ: ตอบยาก เพราะจริงๆ ผมก็เป็นผู้ประกอบการมาตั้งแต่แรก แต่ในแง่ที่ว่าพลิกสายงานนั้น ผมว่าถ้าเราจะลองเปลี่ยนมาทำ ก็ทำได้ แต่ต้องใช้ความตั้งใจอย่างสูงและตลอดเวลา หมั่นเรียนรู้ มีความพยายาม และไม่ล้มเลิก การเปลี่ยนสายงานทำกันได้ทุกคน แต่ใช่ว่าเปลี่ยนปุ๊บแล้วจะรวยเลย มันไม่ง่ายขนาดนั้น อย่างผมทำฟาร์มรายได้ก็ได้ประมาณหนึ่ง แต่มีปัญหาให้แก้ทุกวัน และตลาดก็เปลี่ยนตลอด ต้องดูหลายเรื่อง ทั้งการปลูก การตลาด การจัดส่ง ฯลฯ ใช่ว่าปลูกสำเร็จแล้วรวยเลย เราจึงต้องหมั่นเรียนรู้ ใส่ใจทุ่มเท แก้ไขปัญหา ไม่ละความพยายาม ก้าวให้ทันตลาด และต่อยอดสิ่งที่เราทำเสมอ
 

                 CREATIVE INGREDIENTS

                 ชอบทำอะไรเมื่อมีเวลาว่าง

                 อ๊อบ: ปกติตอนบ่ายๆ ช่วงที่ไม่ได้ทำฟาร์ม ผมจะชอบนั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำฟาร์มเป็นส่วนใหญ่

                 อาร์ต: ผมชอบทำอาหาร โดยจะเอาพืชผักที่ปลูกมาเป็นวัตถุดิบ เพราะโปรเจ็กต์โรงเบียร์ที่จะเปิดปลายปีนี้ ผมก็จะเป็นคนดูแลเรื่องอาหารด้วย

                 มีฟาร์มต้นแบบที่ชื่นชอบไหม

                 อ๊อบ: ผมไม่ได้มีฟาร์มต้นแบบ แต่ส่วนตัวมีโอกาสเข้าชมฟาร์มทั้งในไทยและต่างประเทศหลายที่ เมื่อเจอไอเดียดีๆ ที่พอนำมาประยุกต์ใช้กับฟาร์มของตัวเองได้ ก็จะลองนำมาใช้ดู แต่ไม่ค่อยเจอฟาร์มที่เป็นคอมเมอร์เชียลจริงๆ แล้วเปิดให้คนเข้าชม ฟาร์มส่วนใหญ่ที่เปิดให้เข้าชมได้จะไม่ใช่ฟาร์มที่เป็นคอมเมอร์เชียล แต่เป็นฟาร์มเพื่อโชว์ เน้นเที่ยวและถ่ายรูปมากกว่า ฟาร์มที่เป็นคอมเมอร์เชียลและเป็น Smart Farming จริงๆ มักจะปิดอยู่แล้ว เพราะมันมีเรื่องแมลงและโรค ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้คนเดินดุ่ยๆ เข้าไปได้ มีความเสี่ยงหลายอย่าง  

                 เป้าหมายและแรงบันดาลใจของการทำฟาร์มฮอปส์

                 อ็อบ: แรงบันดาลใจที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นไวน์เนอรี่ทัวร์ ถ้าทำได้ก็ดี แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ไวน์เนอรี่ทัวร์ในที่นี้คือการที่มีคนจ่ายเงินเพื่อมาเยี่ยมชมโรงเบียร์ด้วย ดูฟาร์มฮอปส์ด้วย เหมือนกับทัวร์วิสกี้ ทัวร์ไวน์ ทัวร์โรงเบียร์ที่นิยมทำกันในต่างประเทศ แต่เราเน้นคนที่สนใจอยากเข้าชมและเรียนรู้จริงๆ ไม่ได้วางเป้าไว้สำหรับคนทั่วไปที่เข้ามาถ่ายรูปแล้วก็ไป

                 อาร์ต: เรามีแพสชั่นว่าอยากทำฟาร์มฮอปส์และทำให้ได้ดี นี่คือแรงบันดาลใจ เรามีความสุขที่ได้ทำ และเมื่อฟาร์มเราประสบความสำเร็จ เราก็จะยิ่งดีใจว่าเราทำให้สำเร็จได้อย่างที่คาดหวังไว้จริงๆ 
 

ที่มา : Posted by Creative Thailand | 1 ตุลาคม 2559 | The Creative
เรื่อง : นันท์นรี พานิชกุล และศันสนีย์ เล้าอรุณ ภาพ : ชาคริต นิลศาสตร์